นักดาราศาสตร์สามารถวัดระยะห่างจากวัตถุที่อยู่ใกล้ๆได้ เช่น ดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์ และดาวฤกษ์บางดวงที่อยู่ใกล้ๆเรา แต่วัตถุบางชนิดก็ต้องใช้วิธีทางอ้อมอื่นๆ อย่างการตรวจสอบซุปเปอร์โนวา ซึ่งโชคดีที่เรามีกล้องโทรทรรศน์อวกาศสามารถช่วยงานในส่วนนี้

กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลขององค์การนาซา สหรัฐอเมริกา และองค์การอวกาศยุโรป ก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่มีความสามารถอันโดดเด่นในการวัดระยะห่างจากวัตถุที่อยู่ห่างไกล เช่น กาแล็กซี ควอซาร์ที่เป็นวัตถุสว่างจ้าหรือเป็นแหล่งกำเนิดคลื่นวิทยุคล้ายดาวฤกษ์ และกระจุกกาแล็กซี เนื่องจากความสามารถพิเศษของกล้องโทรทรรศน์ฮับเบิลก็คือ การสังเกตแสงในช่วงคลื่นอัลตราไวโอเลตและอินฟราเรดอย่างละเอียดด้วยเครื่องมือเดียวกัน ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้กล้องฮับเบิลเผยภาพกาแล็กซี NGC 3810 ที่เคยเป็นที่ตั้งของซุปเปอร์โนวาประเภท Ia ที่เป็นผลมาจากการระเบิดของดาวแคระขาว และความสว่างสูงสุดของซุปเปอร์โนวาประเภทนี้มีความสม่ำเสมอมาก คุณลักษณะนี้ช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถใช้ซุปเปอร์โนวาประเภท Ia เพื่อวัดระยะทางได้

นั่นหมายความว่าถ้าได้รู้ว่าซุปเปอร์โนวาประเภท Ia มีความสว่างมากเพียงใด นั่นก็จะบอกได้ว่าซุปเปอร์โนวาต้องอยู่ห่างออกไปแค่ไหน นอกจากนี้ยังมีอีกวิธีหนึ่งก็คือการเปรียบเทียบความเร็วในการหมุนของกาแล็กซีกับความสว่าง ซึ่งการอ้างอิงจากวิธีดังกล่าวนักดาราศาสตร์ระบุว่า NGC 3810 อยู่ห่างจากโลกราว 50 ล้านปีแสง.

Credit : ESA/Hubble & NASA, D. Sand, R. J. Foley

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่