ไม่ว่าโลกจะเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโน โลยีมากเพียงใด "ความมั่นคงทางอาหาร" หรือการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการ ยังคงมีความสำคัญอย่างยิ่งเป็นพื้นฐานของการดำรงอยู่ของมนุษย์
ขณะที่ “สิงคโปร์” ประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพิ่ม “ทางเลือก” การบริโภคของประชาชนด้วยการประกาศอนุมัติให้ แมลง 16 สายพันธุ์ เช่น ตั๊กแตน จิ้งหรีด ด้วง ผึ้งน้ำหวาน เป็นต้น เป็นอาหารปลอดภัยต่อการบริโภคของมนุษย์และสัตว์ อนุญาตให้นำเข้าแมลงเหล่านี้และผลิตภัณฑ์จากแมลงได้โดยมีผลทันทีตามรอยอเมริกาเหนือ รวมทั้งออสเตรเลียที่อนุมัติการบริโภคแมลง 3 ชนิดเมื่อปีที่แล้ว เช่นเดียวกับสหภาพยุโรป ไฟเขียวให้ซื้อขายบริโภคแมลงได้ 4 ชนิดและอยู่ในระหว่างการพิจารณาอนุมัติแมลงในฐานะ “แหล่งอาหารใหม่” เพิ่มเติม
ที่ผ่านมาองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พยายามส่งเสริมการบริโภคแมลงให้เป็นแหล่งโปรตีนทางเลือก ให้กว้างขวาง เนื่องด้วยเป็นอาหารที่มีความยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นมลพิษน้อยกว่าการทำปศุสัตว์ นอกเหนือไปจากข้อเท็จจริงที่ว่าแมลงที่กินได้เหล่านี้ได้ยังอุดมไปด้วยโปรตีน สารต้านอนุมูล อิสระ และแร่ธาตุสำคัญต่างๆ เช่น เหล็ก สังกะสี ทองแดง และแมกนีเซียม รวมทั้งกรดอะมิโนคุณภาพสูงสำหรับมนุษย์อีกด้วย
ที่สำคัญการบริโภคแมลงยังไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด ผลการศึกษาของ มหาวิทยาลัย วาเคอนิงเงิน ในเนเธอร์แลนด์ พบว่ามีแมลงราว 2,100 สายพันธุ์ ถูกบริโภคเป็นอาหารอันโอชะใน 128 ประเทศทั่วโลก เช่น ไทย อินเดีย จีน ญี่ปุ่น เม็กซิโก บราซิล และประเทศในแอฟริกาอย่างคองโก หรือแคเมอรูน เป็นต้น
...
อย่างไรก็ตาม แมลงที่ได้รับการอนุญาตทั้ง 16 ชนิดดังกล่าวต้องผ่านกระบวนการคัดสรรอย่างเข้มงวด ต้องมีการประเมินว่ามีประวัติการบริโภคในมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย ต้องมาจากการเลี้ยงในฟาร์มที่ได้รับการรับรองและควบคุมความปลอดภัย ต้องปราศจากสารปนเปื้อน ไม่ใช่ว่าจะใช้สวิงหรือตาข่ายจับแมลงเหล่านี้จากป่า
ที่สำคัญผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะถูกตรวจสอบและเฝ้าระวังโดยหน่วยงานของรัฐอย่างเข้มข้น หากไม่ได้ตามมาตรฐานด้านความปลอดภัย ก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายในสิงคโปร์.
อมรดา พงศ์อุทัย
คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม