กระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่น เตรียมผ่อนปรนเงื่อนไขในการใช้ปืนไรเฟิลล่าหมีในเขตเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาที่หมีออกทำร้ายผู้คนเพิ่มขึ้น

กระทรวงสิ่งแวดล้อมญี่ปุ่น เตรียมผ่อนปรนเงื่อนไขในการใช้ปืนไรเฟิลล่าหมีในเขตเมือง หลังประชาชนในหลายพื้นที่เผชิญกับการโจมตีของหมีที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ขณะที่นักล่ากล่าวว่าอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงมากเกินไป

กระทรวงฯ มีเป้าหมายที่จะแก้ไขกฎหมายคุ้มครองและล่าสัตว์ป่าในการประชุมรัฐสภาครั้งต่อไป โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวห้ามการยิงปืนไรเฟิลในพื้นที่ที่อยู่อาศัยที่มีประชากรหนาแน่น เพื่อปกป้องความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย

ภายใต้กฎหมายใหม่ นักล่าจะได้รับอนุญาตให้ยิงปืนไรเฟิลได้แม้ในพื้นที่ดังกล่าว หากมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของมนุษย์ หมีเข้าไปในอาคาร หรือหมีติดกับดัก ขณะที่ในปัจจุบันนักล่าที่อยู่ในสมาคมการล่าสัตว์ระดับภูมิภาคสามารถใช้ปืนไรเฟิลในพื้นที่ที่อยู่อาศัยได้ เฉพาะในกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตัดสินว่าสถานการณ์มีความเร่งด่วนและออกคำสั่งอนุญาต และจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่อยู่ด้วย

กระทรวงฯ กล่าวว่า จำนวนหมีที่โจมตีมนุษย์ ตามรายงานในปีงบประมาณ 2566 อยู่ที่ 219 ครั้ง ซึ่งสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย ส่วนในปีงบประมาณ 2567 ซึ่งเริ่มในเดือนเมษายน มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 34 ราย และผู้เสียชีวิต 2 ราย ณ วันที่ 2 กรกฎาคม

ผู้ว่าการจังหวัดฮอกไกโดและภูมิภาคโทโฮกุ ซึ่งมีการพบเห็นหมีจำนวนมาก ได้ร้องขอให้กระทรวงทบทวนกฎหมายปืนไรเฟิลล่าสัตว์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ส่วนในเดือนพฤษภาคม คณะผู้เชี่ยวชาญได้เสนอนโยบายที่อนุญาตให้ใช้ปืนไรเฟิลล่าหมีได้ในกรณีที่มีภัยคุกคามต่อผู้คนอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม มีความเสี่ยงที่กระสุนจะแฉลบและโดนผู้อื่น หรือสร้างความเสียหายให้กับอาคาร การทำร้ายหมียังอาจเพิ่มระดับอันตรายหากสัตว์เกิดการอาละวาด

...

ฮิโรมาสะ อิโกตะ ประธานคณะผู้พิจารณาและรองศาสตราจารย์ด้านการจัดการการล่าสัตว์ที่มหาวิทยาลัยราคุโนะ กาคุเอ็น ในฮอกไกโด กล่าวว่า ผู้ยิงไม่เพียงแต่ต้องมีทักษะเท่านั้น แต่ยังต้องมีความระมัดระวังในระดับสูง และความรู้สึกรับผิดชอบอีกด้วย "กรอบการทำงานในการล่าหมี ที่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสมาชิกชมรมล่าสัตว์ ควรจะมีการเปลี่ยนแปลง"

ด้านนักล่าได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยนายซาโตชิ ไซโตะ กรรมการบริหารสมาคมนักล่าฮอกไกโด กล่าวว่า การเผชิญหน้ากับหมีเป็นเรื่องที่น่ากลัวและค่อนข้างอันตราย "ไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะฆ่าหมีด้วยการยิงได้"

เขากล่าวว่า ถ้าพลาดจุดสำคัญในการหยุดหมีไม่ให้เคลื่อนไหว มันจะวิ่งหนีไปและอาจโจมตีคนอื่น "ถ้ามันโจมตีคนแล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ?"

ตามข้อมูลของรัฐบาลญี่ปุ่น ประชากรหมีบนเกาะฮอกไกโดเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า นับตั้งแต่ปี 2533 ขณะนี้มีหมีสีน้ำตาลประมาณ 12,000 ตัว ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่ามีความก้าวร้าวมากกว่าหมีดำ ซึ่งมีประมาณ 10,000 ตัวในญี่ปุ่น.

ที่มา Asahi ShimbunBBC

ติดตามข่าวต่างประเทศเพิ่มเติมที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign