นางชญาดา วิภัติภูมิประเทศ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตคันนายาว เชิญ ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย พูด “กฎหมายที่ประชาชนควรรู้” ในโครงการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม รับใช้ประชาชนในเขตคันนายาว 200 คน ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีทักษิณาบริหารธุรกิจ เวลา 13.00-15.00 น. เสาร์ 13 กรกฎาคม 2567

ประธานาธิบดีมาครงยุบสภาชุดที่แล้วเมื่อ 9 มิถุนายน 2024 ทำให้ต้องจัดการเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติของฝรั่งเศส รอบที่ 1 เมื่อ 30 มิถุนายน รอบที่ 2 เมื่อ 7 กรกฎาคม รอบแรกพรรคฝ่ายขวาจัดแนวร่วมประชาชาติและพันธมิตรนำด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 33.21 ส่วนพันธมิตรฝ่ายซ้ายแนวร่วมประชาชนใหม่ได้คะแนนเสียงร้อยละ 28.14 สำหรับพันธมิตรฝ่ายสนับสนุนประธานาธิบดีเพื่อสาธารณรัฐได้คะแนนเสียงร้อยละ 21.28

ทันทีที่พันธมิตรฝ่ายขวาชนะในรอบแรก ฝ่ายซ้ายทั่วประเทศก็ออกมาประท้วงกันวุ่นวายขายปลาช่อน เพราะหากฝ่ายขวาชนะก็จะมีนโยบายมากมายหลายอย่างที่ทำให้ประชาชนคนที่เป็นอดีตผู้อพยพหรือคนที่นับถือศาสนาอื่นที่ไม่ใช่ศาสนาคริสต์ลำบาก

สมัชชาแห่งชาติของฝรั่งเศสมีสมาชิก 577 ที่นั่ง จะตั้งรัฐบาลได้ต้องได้ 289 ที่นั่ง จึงจะถือว่าเป็นฝ่ายเสียงข้างมาก ผลการเลือกตั้งพลิกล็อกจากการเลือกตั้งรอบแรก เพราะพรรคเรอแนซ็องส์ได้ สส. 180 คน พรรคนี้เดิมชื่อว่าอ็องมาร์ช! และลาเรปูว์ลีก็องมาร์ช เป็นพรรคการเมืองสายกลาง ตั้งเมื่อ 6 เมษายน 2016 โดยเอ็มมานูแอล มาครง เมื่อได้เป็นประธานาธิบดีแล้ว มาครงก็ลาออกจากประธานพรรค พรรคนี้มีแนวความคิดเกี่ยวกับสังคม-เสรีนิยมประชาธิปไตย สนับสนุนสหภาพยุโรป

ส่วนพรรคฝ่ายขวาจัดแนวร่วมประชาชาติที่ชนะเลือกตั้งในรอบแรก แต่ในการเลือกตั้งทั้งสองรอบกลับได้ สส. 142 คน ฝ่ายซ้ายพลิกชนะกลุ่มฝ่ายขวาจัด ทำให้เราเข้าใจว่าคนฝรั่งเศสพิจารณาแล้วว่า พวกขวาจัดเป็นอันตรายต่อชาติบ้านเมือง แต่ความที่คะแนนไม่ห่างกันมาก ทำให้พันธมิตรฝ่ายซ้ายที่ชนะได้คะแนนไม่ถึง 289 ที่นั่ง หรือไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ทำให้ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้

...

พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งได้คะแนนเสียงมาเป็นกอบเป็นกำ แบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย ฝ่ายซ้าย ฝ่ายกลาง และฝ่ายขวาจัด ในหลายประเทศอาจจะมีการลดความเข้มข้นของอุดมการณ์เพื่อให้พรรคการเมืองสามารถรวมตัวกันตั้งรัฐบาลได้ แต่ในฝรั่งเศสไม่ใช่ แต่ละพรรคมีนโยบายของตน มีอุดมการณ์ที่ต่างกันอย่างมาก และไม่เคยทำงานร่วมกันมาก่อน การจัดตั้งรัฐบาลก็อาจจะมีปัญหา หรือแม้แต่การผ่านร่างพระราชบัญญัติในสภาผู้แทนราษฎรซึ่งฝรั่งเศสเรียกว่าสมัชชาแห่งชาติก็จะมีความยุ่งยาก

ต่อแต่นี้ ฝรั่งเศสอาจมีความวุ่นวายขายปลาช่อนเกิดขึ้น สถานะของฝรั่งเศสในประชาคมยุโรปที่เคยเข้มแข็งก็จะยอบแยบลง ก่อนหน้านี้ เดินทางไปประเทศไหน มาครงจับไมค์พูดจาปราศรัยกับผู้คนด้วยความมั่นใจ หลังจากการเลือกตั้งครั้งนี้ ความมั่นใจของมาครงก็คงจะลดลงไปมาก

การประกาศยุบสภาของมาครงทำแล้วเมื่อวันที่ 9 มิถุนายนจะไม่สามารถจะประกาศจัดการเลือกตั้งรอบใหม่ได้ภายในอีก 12 เดือนข้างหน้า นั่นหมายความว่าสถานการณ์การเมืองของฝรั่งเศสจะอึกอักยึกยักอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

อำนาจการตัดสินใจว่าจะให้ใครเป็นผู้ตั้งรัฐบาลอยู่ที่ประธานาธิบดีมาครง แต่คนที่มาครงจะเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือเป็นหัวหน้ารัฐบาลนั้น ก็จะต้องมีเสียง สส.ในสภามากพอเพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติต่างๆของรัฐบาลผ่านหรือมากพอที่จะเผชิญกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจจากฝ่ายค้าน เพราะหากแพ้โหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐบาลก็ต้องลาออก การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ก็จะยุ่งยาก อาจจะต้องมีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่กันอีก

2 ประเทศใหญ่ในทวีปยุโรปคืออังกฤษและฝรั่งเศส เพิ่งผ่านการเลือกตั้งในเวลาไล่เลี่ยกัน ที่อังกฤษพรรคอนุรักษนิยมแพ้ยับเยิน ทำให้พรรคตรงข้ามคือพรรคแรงงานพลิกขึ้นมาเป็นรัฐบาล ส่วนในฝรั่งเศส ตอนแรกก็คิดว่าจะพลิกขั้วเหมือนกัน แต่ประชาชนกลัวฝ่ายขวาก็เลยเลือกฝ่ายซ้าย ทำให้อำนาจยังอยู่กับฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายกลางซ้าย

ผู้อ่านท่านที่เคารพ การเมืองยุโรปในช่วงนี้น่าติดตามแทบทุกประเทศครับ เพราะมีผลต่อสงครามรัสเซีย-อูเครน และมีผลต่อเศรษฐกิจโลก.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com

คลิกอ่านคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” เพิ่มเติม