ญี่ปุ่นมีผู้ป่วยฮีตสโตรกในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 4 เท่าตัว เสียชีวิตแล้ว 19 ศพ จนทางการต้องประกาศเตือนเรื่องสุขภาพ

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อ 9 ก.ค. 2567 ว่า ตลอดช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ภูมิภาคชิซึโอกะ ตอนกลางของญี่ปุ่นกลายเป็นพื้นที่แรกของประเทศที่มีอุณหภูมิแตะ 40 องศาเซลเซียสในปีนี้ สูงกว่าตัวเลข 35 องศาฯ ที่หน่วยงานสภาพอากาศของแดนอาทิตย์อุทัย จัดให้เป็นเกณฑ์มาตรฐานของอากาศ “ร้อนสุดขีด” มาก

ตามการเปิดเผยของสำนักงานดับเพลิงและจัดการภัยพิบัติของญี่ปุ่น จำนวนผู้ป่วยโรคฮีตสโตรกต้องเข้าโรงพยาบาลทั่วประเทศ ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคม (1-7 ก.ค.) อยู่ที่ 9,105 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้านั้นถึง 4 เท่าตัว โดยในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 19 ศพ และต้องอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาล 3,248 ราย

ผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไปคือกลุ่มที่ป่วยลมแดดมากที่สุดในช่วงเวลาดังกล่าว ที่ 5,378 ราย หรือคิดเป็น 59.1% ของผู้ป่วยทั้งหมด ขณะที่ผู้ป่วย 3,449 ราย เกิดอาการลมแดดภายในบ้านของตัวเอง ส่วน 1,877 ราย ล้มป่วยขณะเดินบนถนน และ 1,201 ราย เกิดอาการป่วยขณะอยู่ในพื้นที่กลางแจ้ง เช่น สนามกีฬา, ลานจอดรถ และอื่นๆ

ทางการกรุงโตเกียวติดตั้งเครื่องฉีดละอองน้ำไว้ตามจุดต่างๆ เพื่อให้ความเย็นแก่ประชาชน
ทางการกรุงโตเกียวติดตั้งเครื่องฉีดละอองน้ำไว้ตามจุดต่างๆ เพื่อให้ความเย็นแก่ประชาชน

...

ทั้งนี้ อาการร้อนระดับนี้ในช่วงกลางฤดูฝนของญี่ปุ่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก บริเวณความกดอากาศสูงรุนแรงในแปซิฟิกใต้ ส่งผลให้อุณหภูมิในกรุงโตเกียว และจังหวัดวากายามะ ทางตอนใต้พุ่งจนเกือบถึง 40 องศาเซลเซียสในวันจันทร์ที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา ทำลายสถิติสูงสุดตลอดกาล

ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ทางการญี่ปุ่นออกคำเตือนในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ให้ประชาชนระวังป่วยโรคฮีตสโตรก หรือ ลมแดด เนื่องจากอากาศร้อน เรียกร้องให้ผู้คนหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง และให้ใช้เครื่องปรับอากาศ

เพื่อรับมือกับปัญหาเรื่องอากาศร้อนรุนแรง รัฐบาลกลางของญี่ปุ่นได้กำหนดให้รัฐบาลท้องถิ่น จัดตั้งที่พักหลบภัยร้อน (cooling shelter) ให้บริการประชาชนตามสถานที่ต่างๆ ที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ เช่น ศูนย์ประชุม, ห้องสมุด หรือแม้แต่สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอย่าง โตเกียวทาวเวอร์

นายฮิซาโก อิจิอุจิ วัย 60 ปี ซึ่งเข้าใช้บริการที่หลบภัยร้อนในโตเกียวทาวเวอร์ในวันอังคาร (9 ก.ค.) บอกกับสื่อท้องถิ่นว่า ปัญหาอากาศร้อนเป็นภาวะฉุกเฉินที่เป็นอันตรายต่อชีวิต เมื่อก่อนอุณหภูมิไม่สูงขนาดนี้ และเป็นเรื่องสำคัญที่เติมน้ำให้ตัวเองตลอดเวลา และเข้าหลบภัยในสถานที่เช่นนี้

ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign

ที่มา : nhkcna