ในระหว่างจัดการหารือระหว่างรับประทานอาหารกลางวันให้กับนักข่าวจาก 10 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย สหรัฐฯ และปาเลา ประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ให้การรับรองไต้หวัน ที่ กระทรวงต่างประเทศไต้หวัน เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเพื่อเน้นย้ำการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ทางใต้ของไต้หวัน ภายใต้นโยบาย “มุ่งใต้ครั้งใหม่” (New Southbound Policy) ในกรุงไทเป เมืองหลวงของไต้หวัน เมื่อหลายวันก่อน

นายเถียน จงกวง รมช.ต่างประเทศสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ใช้ “ตะเกียบ” อุปกรณ์สำคัญประจำโต๊ะอาหารเป็นเครื่องมือชี้ให้เห็นว่า แม้ตะเกียบอาจถูกหักทำลายได้อย่างง่ายดาย แต่หากรวมตะเกียบหลายๆ อันเข้าด้วยกัน ก็เป็นเรื่องยากยิ่งแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหักตะเกียบทั้งหมดนั้นให้แตกหักในคราวเดียว อธิบายถึง ความแข็งแกร่งของความสมัครสมานสามัคคี ได้อย่างเห็นภาพ และเป็นคำตอบว่าเพราะเหตุใดไต้หวันจึงพยายามสร้างมิตรให้มากที่สุด ไปพร้อมๆกับพยายามยื่นมือให้ความช่วยเหลือมิตรประเทศที่ประสบปัญหาต่างๆอยู่เสมอ

นอกจากนี้นายเถียนยังชี้ให้เห็นการพัฒนาทางการค้าที่ก่อเกิดออกดอกผลงอกงามจากนโยบายดังกล่าวช่วยกระตุ้นให้มูลค่าการค้าระหว่างไต้หวันกับ 18 ประเทศภายใต้นโยบายดังกล่าว เพิ่มขึ้นร้อยละ 88.8 จาก 95,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือราว 3.5 ล้านล้านบาท) ในปี 2559 เพิ่มสูงเป็น 180,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือราว 6.5 ล้านล้านบาท)ในปี 2565 และเมื่อรวมกับการพัฒนาเชิงบวกอื่นๆ ผลลัพธ์ที่ได้ก็มีแนวโน้มที่ดีอย่างมาก เช่นเดียวกับการลงทุนของไต้หวันในประเทศดังกล่าวก็เพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน

...

ส่วนประเด็นที่ไม่ถามไม่ได้อย่างการข่มขู่ กระทบกระทั่งจากฝั่งจีนแผ่นดินใหญ่ รมช.ต่างประเทศไต้หวันย้ำหนักแน่นว่า แม้ว่าไต้หวัน จะมีขนาดเล็ก แต่ก็ไม่ได้อยู่เพียงลำพัง ขณะเดียวกันยังส่งสัญญาณว่าไต้หวันไม่เรียกร้องให้เกิดสงคราม กระนั้นก็ยอมรับว่าเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่เลวร้ายที่สุดเสมอ ไม่ได้วางใจ

ไม่ต่างกับคีย์เมสเซสจาก “นางสวี๋ หย่งเหมย” อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ที่ให้เกียรติร่วมรับประทานอาหารกลางวันและพูดคุยกับกลุ่มนักข่าวต่างประเทศ รวมทั้งผู้สื่อข่าวไทยรัฐฯ ร่วมด้วยทีมเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศไต้หวันอีกหลายท่านในกรุงไทเปก่อนหน้านี้

นางสวี๋ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของ “นโยบายมุ่งใต้ใหม่” (New Southbound Policy) เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ได้บริหารรัฐบาลไต้หวันติดต่อกัน เป็นวาระที่ 3 วางให้เป็นยุทธศาสตร์ชาติตั้งเป้ามุ่งเน้นพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านทางใต้ของไต้หวันให้เพิ่มพูนความใกล้ชิดบนพื้นฐานของคุณค่าร่วม และประโยชน์ ส่วนรวม ทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ รวมไปถึงออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ชาติพันธมิตรที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

ขณะที่รัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของ “นายไล่ ชิงเต๋อ” ประธานาธิบดีไต้หวัน ที่รับหน้าที่เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา มีแนวคิดพัฒนาความร่วมมือ “นโยบายมุ่งใต้ใหม่ เวอร์ชัน 2.0” ทางด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ให้มากขึ้น ตามคำมั่นผลักดันไต้หวันเป็นศูนย์กลางเอไอ เป็นเกาะแห่งปัญญาประดิษฐ์ (AI Island) ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมความร่วมมือด้าน “Smart city” (เมืองอัจฉริยะ) “Smart machinery” (เครื่องจักรกลอัจฉริยะ) รวมถึง “Digitalization” นำเทคโนโลยีมาปรับใช้สู่ยุคดิจิทัล และ “Green economy” (เศรษฐกิจสีเขียว)

เมื่อถูกถามถึงความเป็นไปได้ที่กองทัพจีนอาจใช้กำลังบุกยึดไต้หวัน นางสวี๋ให้มุมมองว่าหากเป็นเช่นนั้นก็คงไม่ใช่แค่เพียงไต้หวันที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ทั่วโลกจะต้องเดือดร้อนโดนหางเลขจากเหตุการณ์ดังกล่าวเช่นกัน อย่างที่ทราบกันดีว่าไต้หวันเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไฮเทคซึ่งเป็นที่ต้องการของบิ๊กเทคทั่วโลก ทว่าสิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดก็คือการกระตุ้นให้ประชาชนชาวไต้หวันมี “ความมุ่งมั่น” ปลุกจิตวิญญาณในการปกป้องตนเองก่อนคาดหวังความช่วยเหลือจากผู้อื่น ที่ผ่านมารัฐบาลไต้หวันเริ่มกระบวนการเพิ่มขีดความสามารถทางทหารพร้อมรับมือ “สงครามอสมมาตร” กับกองกำลังที่เหนือกว่าที่อาจเกิดขึ้นมาบ้างแล้ว รวมถึงการขยายเวลาเกณฑ์ทหารภาคบังคับจาก 4 เดือน เพิ่มเป็น 1 ปี นอกเหนือจากการถอดบทเรียนจากยูเครนที่ถูกรัสเซียบุกโจมตีมาปรับใช้ อย่างการใช้อาวุธชิ้นเล็กแต่ตอบโจทย์ด้านประสิทธิภาพการทำลายล้างอย่าง “โดรนพิฆาต” ใช้ต่อกรศัตรู

นอกเหนือไปจากความร่วมมือ กับสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นโครงการฝึกซ้อมทางทหาร หรือเพิ่มความสามารถในการเฝ้าระวังสังเกตการณ์ ขณะเดียวกันยังมีโครงการเตรียมพร้อมรับมือภัยคุกคามจากฝั่งเอกชน เมื่อมหาเศรษฐีรายหนึ่งประกาศบริจาคเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน (หรือราว 1,127 ล้านบาท) เพื่อฝึกประชาชนทั่วไปให้มีความสามารถเป็น “นักรบพลเรือน” ช่วยป้องกันเหตุรุกรานไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น

...

นางสวี๋ยังให้ทัศนะถึงประเด็นทางรัฐบาลจีนกล่าวหานายไล่ ผู้นำใหม่ไต้หวันเป็นผู้ฝักใฝ่แบ่งแยกดินแดนว่าไม่มีเหตุผลที่รัฐบาลจีนจะเชื่อว่าประธานาธิบดีไล่จะมีการเคลื่อนไหวประกาศเอกราชของไต้หวัน “เพราะทุกวันนี้ไต้หวันมีเอกราชอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องประกาศอะไรอีก” อย่างไรก็ตาม ยังยืนยันขันแข็งด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลตบท้ายว่า “เราไม่คิดว่าสงครามเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เราเพียงต้องการป้องกันไม่ให้สิ่งเลวร้ายที่สุดเกิดขึ้น”

ส่วนความสนใจใคร่รู้ว่าชาวไต้หวันทั่วไปกังวลการรุกรานของจีนหรือไม่ นางสวี๋มองว่าหากชาวไต้หวันมัวแต่วิตกกังวลจนไม่เป็นอันทำงานการอะไร เราก็คงไม่สามารถพัฒนาเติบโตกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 20 ของโลก เฉกเช่นทุกวันนี้

ทัศนคติเข้มแข็งแต่ไม่แข็งกร้าวเช่นนี้น่าชื่นชม.

อมรดา พงศ์อุทัย

คลิกอ่านคอลัมน์ “7 วันรอบโลก” เพิ่มเติม