รัฐบาลญี่ปุ่นยกเลิกการใช้ฟลอปปีดิสก์ในทุกระบบ หลังถูกนำมาใช้มานานหลายสิบปี เพื่อหวังปรับปรุงระบบราชการให้ทันสมัย
เมื่อกลางเดือนที่แล้ว กระทรวงดิจิทัลญี่ปุ่นได้ยกเลิกกฎระเบียบทั้งหมด 1,034 ฉบับ ที่ควบคุมการใช้งานฟลอปปีดิสก์ยกเว้นข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อมประการหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการรีไซเคิลยานพาหนะ
ทาโร โคโนะ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัล ซึ่งเป็นแกนนำเกี่ยวกับการยกเลิกใช้แฟกซ์และเทคโนโลยีอะนาล็อกอื่นๆ ของรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งเคยกล่าวประกาศสงครามกับฟลอปปีดิสก์เมื่อปี 2564 ประกาศในแถลงการณ์ว่า "เราชนะสงครามกับฟลอปปีดิสก์เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน!"
ญี่ปุ่นครั้งหนึ่งเคยได้รับการยกย่องให้เป็นมหาอำนาจด้านเทคโนโลยี แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นกลับมีความล้าหลังจากกระแสการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลทั่วโลก เนื่องจากการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงที่ยังฝังลึก ยกตัวอย่างเช่น สถานที่ทำงานต่างๆ ยังคงนิยมใช้เครื่องแฟกซ์มากกว่าอีเมล แผนการในการยกเลิกแฟกซ์ในหน่วยงานของรัฐก่อนหน้านี้ ถูกยกเลิกเนื่องจากการกระแสต่อต้าน
การประกาศดังกล่าวได้รับการพูดคุยกันอย่างกว้างขวางบนโซเชียลมีเดียของญี่ปุ่น โดยผู้ใช้รายหนึ่งบน X เรียกฟลอปปีดิสก์ว่า "สัญลักษณ์ของการบริหารที่ผิดสมัย" ผู้ใช้รายหนึ่งแสดงความเห็นว่า "รัฐบาลยังคงใช้ฟลอปปี้ดิสก์อยู่เหรอ มันล้าสมัยไปแล้ว ฉันเดาว่าพวกเขาคงเต็มไปด้วยคนแก่"
ส่วนผู้ใช้อีกรายแสดงความคิดเห็นว่า "ฉันสงสัยว่าฟลอปปีดิสก์จะเริ่มปรากฏบนเว็บไซต์ประมูลหรือไม่"
อุปกรณ์รูปทรงสี่เหลี่ยมนี้ถูกสร้างขึ้นในช่วงทศวรรษปี 1960 และเริ่มได้รับความนิยมน้อยลงในช่วงยุค 1990 เนื่องจากมีการพัฒนาโซลูชันการจัดเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ฟลอปปีดิสก์ที่มีความหนาแน่นสูงสุด สามารถรองรับข้อมูลได้เพียง 1.44 เมกะไบต์ จำเป็นต้องใช้ดิสก์ดังกล่าวมากกว่า 22,000 แผ่น เมื่อเทียบกับการ์ดเมมโมรีสติก ที่จัดเก็บข้อมูลขนาด 32 กิกะไบต์ โดยบริษัทโซนี ซึ่งเป็นผู้ผลิตดิสก์รายสุดท้ายได้ยุติการผลิตในปี 2554
...
ญี่ปุ่นจัดตั้งกระทรวงดิจิทัล ในเดือนกันยายน 2564 ซึ่งนายโคโนะ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งนับว่ามีความล่าช้าอย่างมากในการเปลี่ยนระบบราชการให้เป็นระบบดิจิทัล ขณะที่ธุรกิจในญี่ปุ่นจำนวนมากยังคงกำหนดให้ต้องมีการรับรองเอกสารอย่างเป็นทางการ โดยใช้ตราประทับส่วนตัวที่เรียกว่า "ฮันโกะ" แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามเลิกใช้สิ่งเหล่านั้นแล้วก็ตาม
ด้านเว็บไซต์ เดอะ เจแปน ไทมส์ รายงานว่า ปัจจุบันผู้คนเริ่มทยอยเลิกใช้ตราประทับอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้น เมื่อปี 2562 ผู้ให้บริการเพจเจอร์รายสุดท้ายของญี่ปุ่นได้ยกเลิกการให้บริการ โดยสมาชิกรายสุดท้ายอธิบายว่าการเพจเจอร์ เป็นวิธีสื่อสารที่แม่ของเขาเลือกใช้.
ที่มา BBC
ติดตามข่าวต่างประเทศเพิ่มเติมที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign