ญี่ปุ่นเปลี่ยนมาใช้ธนบัตรชุดใหม่ในรอบ 20 ปี โดยเริ่มใช้แล้วตั้งแต่วันนี้ (3 ก.ค. 67) ซึ่งนอกจากจะเปลี่ยนภาพบนธนบัตรแล้ว ยังใช้เทคโนโลยีโฮโลแกรมที่ป้องกันการปลอมแปลง โดยมี 3 ชนิด คือ ฉบับละ 1 หมื่น 5 พันเยน และ 1 พันเยน

ทางการญี่ปุ่นเริ่มนำธนบัตรชุดใหม่มาใช้หมุนเวียนในระบบแล้วในวันนี้ โดยนับเป็นการเปลี่ยนโฉมธนบัตรเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี โดยธนบัตรทั้ง 3 แบบ ทั้งฉบับละ 1 หมื่น 5 พันเยน และ 1 พันเยน จะเปลี่ยนเป็นรูปภาพใหม่ ได้แก่ ฉบับละ 1 หมื่นเยน เป็นภาพของ เออิชิ ชิบูซาวะ (1840-1931) ผู้ก่อตั้งธนาคารแห่งแรกและตลาดหลักทรัพย์ ส่วนภาพด้านหลังคือสถานีโตเกียว สิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่น

ส่วนธนบัตรฉบับละ 5 พันเยน เป็นภาพของ อุเมโกะ สึดะ (1864-1929) ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยสึดะจุคุ มหาวิทยาลัยแห่งแรกของผู้หญิงในญี่ปุ่น และเป็นสตรีญี่ปุ่นคนแรกที่ไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา ส่วนภาพด้านหลังคือ ภาพดอกวิสทีเรีย

และธนบัตรฉบับละ 1 พันเยน เป็นภาพของ ชิบะซาบุโระ คิตะซาโตะ (1853-1931) ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งการแพทย์สมัยใหม่” ของญี่ปุ่น คิดค้นการป้องกันโรคระบาดอย่างกาฬโรค และบาดทะยัก โดยภาพด้านหลังคือ ภาพภูเขาฟูจิ

...

นอกจากธนบัตรชุดใหม่นี้จะมีการเปลี่ยนแปลงภาพบุคคลบนธนบัตรแล้ว ยังมีการใช้เทคโนโลยีการพิมพ์แบบโฮโลแกรม ทำให้สามารถมองเห็นภาพที่แตกต่างกันได้เมื่อเปลี่ยนจุดมอง ซึ่งญี่ปุ่นประกาศว่า นี่เป็นครั้งแรกของโลกที่ใช้เทคโนโลยีนี้ในการพิมพ์ธนบัตร เพื่อการป้องกันการปลอมแปลงธนบัตร โดยตั้งเป้าจะพิมพ์ธนบัตรใหม่นี้ให้ได้ 7.5 พันล้านฉบับภายในปีงบประมาณปัจจุบัน

ข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งญี่ปุ่น ระบุว่า ในช่วงระหว่างปี 2019-2021 พบธนบัตรปลอมฉบับละ 1 หมื่นเยน ปีละกว่า 2 พันใบ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่ก่อให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือในเงินตราของญี่ปุ่น จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงทุกๆ 20 ปี ให้ทันกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเพื่อให้ยากต่อการปลอมแปลง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธนบัตรแบบใหม่จะถูกนำออกมาใช้งานแล้ว แต่ธนบัตรแบบเก่าจะยังคงใช้งานได้ตามปกติ ขณะที่สถานีรถไฟ ที่จอดรถ และร้านค้าต่างๆ พยายามเร่งอัปเกรดเครื่องชำระเงินของตัวเอง เพื่อให้สามารถรับธนบัตรทั้งแบบใหม่และแบบเก่าได้ ในขณะที่รัฐบาลผลักดันให้ผู้บริโภคและธุรกิจต่างๆ ปรับตัวให้เป็นสังคมไร้เงินสดแทน.

ที่มา : channelnewsasia

คลิกอ่านข่าวเกี่ยวกับ ญี่ปุ่น