- ชาวโบลิเวียต้องตื่นตกใจ เกิดรัฐประหารในประเทศอย่างอุกอาจ ก่อนสถานการณ์จะยุติลงแบบม้วนเดียวจบ ผู้บัญชาการทหารบก หัวหน้าก่อรัฐประหาร ได้ถูกตำรวจจับกุมในข้อหาก่อกบฏ
- ปธน.ลุยซ์ อาร์เซ แห่งโบลิเวียใช้แผนสำคัญ ตั้งผบ.สส.และผบ.ทบ.คนใหม่ทันที สยบเหตุการณ์พยายามก่อรัฐประหาร ก่อนประกาศ นี่คือชัยชนะของประชาธิปไตยในโบลิเวีย หลังจากช่วง 78 ปีที่ผ่านมา เกิดเหตุรัฐประหารในประเทศเกือบ 40 ครั้ง
- เหตุรัฐประหารในโบลิเวียล่าสุด เกิดขึ้นขณะชาวโบลิเวีย 12 ล้านคนในประเทศกำลังประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อ และเกิดการต่อสู้ทางการเมืองระหว่าง ปธน.อาร์เซ กับอดีต ปธน.เอโว โมลาเรส ซึ่งพยายามจะหวนกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง
กลายเป็นหนังม้วนเดียวจบ สำหรับการพยายามก่อรัฐประหารในโบลิเวีย เมื่อฝ่ายทหารซึ่งก่อกบฏได้ถูกกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกจับกุมแบบสายฟ้าแลบ หลังก่อรัฐประหารบุกยึดทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงลาปาซ เมืองหลวง ได้เพียงไม่กี่ชั่วโมง
จนทำให้ชาวโบลิเวียราว 12 ล้านคน ได้เห็นเหตุการณ์พยายามก่อรัฐประหารในประเทศ ที่พลิกผันอย่างรวดเร็ว และจบลงด้วยเสียงไชโยโห่ร้องของประชาชนที่สนับสนุนประธานาธิบดีลุยซ์ อาร์เซ
ขณะที่ ประธานาธิบดีอาร์เซ จากพรรคฝ่ายซ้าย Movement for Socialism หรือ ขบวนการเพื่อสังคมนิยม (MAS) เรียกการทำรัฐประหารที่ล้มเหลวครั้งนี้ ว่าเป็นชัยชนะของประชาธิปไตยในโบลิเวีย
...
จับ ผบ.ทบ. หัวหน้ากบฏ
เหตุการณ์ก่อรัฐประหารในโบลิเวียครั้งนี้ นับเป็นการก่อรัฐประหารที่อุกอาจมาก เพราะเกิดขึ้นตอนช่วงบ่ายวันพุธที่ 26 มิถุนายน 2567 ตามเวลาท้องถิ่น โดยมี พลเอกฮวน โฮเซ่ ซูนิกา ผู้บัญชาการทหารบกของโบลิเวีย เป็นหัวหน้าคณะนำทหารหลายร้อยนายก่อรัฐประหาร พยายามยึดอำนาจประธานาธิบดีอาร์เซ หลังจากพลเอกซูนิกาเพิ่งถูกปลดจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกก่อนหน้านี้วันเดียว
ประชาชนในกรุงลาปาซ เมืองหลวงโบลิเวีย ต้องแตกตื่นตกใจ เมื่อจู่ๆ เห็นยานหุ้มเกราะและรถถังออกมาวิ่งบนถนน โดยไปจอดคุมเชิงอย่างน่าเกรงขามอยู่บริเวณใกล้กับจัตุรัสมูริลโล ซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมของสถานที่ทางการสำคัญๆ ของรัฐบาล รวมทั้งทำเนียบประธานาธิบดี
ขณะเดียวกัน ทหารหลายสิบนายพยายามช่วยกันพังประตูทำเนียบประธานาธิบดี จนในที่สุดได้มีการใช้รถถังบุกชนพังประตูทำเนียบฯ จนสำเร็จ และทหารจำนวนมากได้กรูเข้าไปข้างในทำเนียบ เพื่อยึดอำนาจประธานาธิบดีอาร์เซ
พลเอกซูนิกา ได้กล่าวกับนักข่าวที่บริเวณจัตุรัสมูริลโล โดยมีทหารหลายนายยืนคุ้มกัน ถึงเหตุผลในการก่อรัฐประหารว่า เพื่อต้องการฟื้นฟูประชาธิปไตย และรัฐบาลของประธานาธิบดีอาร์เซกำลังทำให้ประเทศชาติยากจนลง
ก่อนหน้านี้ พลเอกซูนิกา เคยปฏิเสธรายงานข่าวที่ว่า เขาพยายามจะขัดขวางอดีตประธานาธิบดีเอโว โมลาเรส ที่พยายามจะกลับมาสมัครเลือกตั้งชิงประธานาธิบดีโบลิเวียอีกครั้ง
‘ประชาชนไม่มีอนาคต และกองทัพมีความกล้าหาญที่จะนำประชาชนออกไปเพื่ออนาคตของลูกหลานของเรา เพื่อความกินดีอยู่ดี และความก้าวหน้าของประชาชนของเรา’ พลเอกซูนิกา กล่าว
แต่แล้วเพียง 5 ชั่วโมงต่อมา การพยายามก่อรัฐประหารครั้งนี้ได้พลิกผัน ยุติลงด้วยความล้มเหลว เมื่อบรรดาทหารได้ถอนกำลังออกจากทำเนียบประธานาธิบดี โดยพลเอกซูนิกา และพลเรือโทฮวน อาร์เนส ซัลวาดอร์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ถูกตำรวจจับกุมอย่างง่ายดาย ท่ามกลางเสียงประณามจากผู้นำนานาประเทศที่ต่อต้านการก่อรัฐประหารยึดอำนาจ
...
ปธน.โบลิเวีย ตั้ง ผบ.สูงสุดคนใหม่ สั่งทหารถอนกำลังทันที
สาเหตุที่ พลเอกซูนิกา ก่อรัฐประหารไม่สำเร็จ เนื่องจาก ประธานาธิบดีอาร์เซ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนใหม่ทันที รวมทั้งได้ตั้ง พลเอกโฮเซ่ ซานเชส เป็นผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ แทนพลเอกซูนิกา
จากนั้นผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนใหม่ของโบลิเวียได้มีคำสั่งให้ทหารถอนกำลังออกจากทำเนียบประธานาธิบดี ขณะที่ด้านพลเอกซูนิกาได้ถูกตำรวจจับกุม และสำนักงานอัยการสูงสุดโบลิเวีย ได้ดำเนินคดีอาญากับพลเอกซูนิกา และพลเรือโทฮวน อาร์เนส ซัลวาดอร์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ซึ่งร่วมมือกันพยายามก่อรัฐประหาร
โบลิเวียเกิดรัฐประหารเกือบ 40 ครั้ง ในช่วง 78 ปี
โบลิเวีย เป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ทางการเมือง ในการเผชิญกับเหตุก่อรัฐประหารมายาวนาน เพราะนับตั้งแต่ปี 2489 ได้เกิดการพยายามทำรัฐประหารในโบลิเวียมาแล้วเกือบ 40 ครั้ง ซึ่งในจำนวนนี้มีทั้งสำเร็จและล้มเหลว
...
ลุยส์ อาร์เซ Vs เอโว โมลาเรส
เกิดการต่อสู้ทางการเมืองกันอย่างดุเดือดมาหลายเดือนในโบลิเวีย ระหว่างประธานาธิบดีอาร์เซ กับอดีตประธานาธิบดีเอโว โมลาเรส ซึ่งอยู่พรรคเดียวกัน ขบวนการเพื่อสังคมนิยม และโมลาเรสเคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีโบลิเวียนานเกือบ 14 ปี และยังเป็นชนพื้นเมืองคนแรกที่ได้เป็นประธานาธิบดีโบลิเวีย ก่อนนายโมลาเรสจะถูกพลังประชาชนออกมาชุมนุมประท้วงขับไล่ จนยอมลาออกจากตำแหน่งเมื่อปี 2562
ขณะที่ ลุยส์ อาร์เซ วัย 60 ปี ได้เป็นประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ย. 2563 โดยชัยชนะของอาร์เซ เกิดขึ้นหลังจากการเมืองในประเทศวุ่นวายมานานเกือบปี หลังจากประธานาธิบดีโมลาเรส จากพรรคฝ่ายซ้ายถูกบังคับให้ลาออกในปี 2562 เนื่องจากประชาชนออกมาเดินขบวนประท้วงขับไล่ กล่าวหาว่านายโมลาเรสชนะการเลือกตั้งอย่างไม่ชอบมาพากล และโมลาเรสได้ลี้ภัยไปยังประเทศเม็กซิโก
...
จากนั้น นางจานิน อาเนส รองประธานวุฒิสภาจากพรรคฝ่ายค้าน ได้แต่งตั้งตัวเองเป็นประธานาธิบดีรักษาการของโบลิเวีย ก่อนจะถอนตัวจากการลงสมัครชิงประธานาธิบดีในปี 2563 และต่อมาทางการโบลิเวียได้จับกุม นางอาเนส ในข้อหาเกี่ยวข้องกับการก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจนายโมราเลสในปี 2562 และนางอาเนสถูกตัดสินจำคุก 10 ปี
ตอนแรก นายอาร์เซ ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ได้เป็นคนเขียนแผนเศรษฐกิจให้กับนายโมลาเรส ขณะลงชิงประธานาธิบดีครั้งแรกในปี 2548 และเมื่อนายโมลาเรสคว้าชัยเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีแล้ว เขาได้แต่งตั้งนายอาร์เซ เป็น รมว.เศรษฐกิจ
แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา นายอาร์เซ กับ โมราเลส ได้เกิดแตกคอกัน ขณะที่ทั้งสองคนต่างเป็นหัวหน้า ‘มุ้ง’ สส.กลุ่มใหญ่ในพรรค MAS ทั้งคู่ อีกทั้งโมราเลสยังประกาศจะกลับมาชิงชัยในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ปี 2567 ถึงแม้รัฐธรรมนูญได้กำหนดห้าม โมราเลส ไม่ให้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีได้อีกต่อไป
ในขณะที่ชัยชนะในการเลือกตั้งของอาร์เซ ในปี 2563 ทำให้โบลิเวียหวนกลับสู่เสถียรภาพอีกครั้ง แต่แล้วตอนนี้ ชาวโบลิเวีย 12 ล้านคน ได้เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ จนทำให้มีประชาชนออกมาเดินขบวนประท้วงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทั้งทุนสำรองเงินตราต่างประเทศลดน้อยลง โดยเฉพาะเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ เกิดภาวะเงินเฟ้อสินค้าราคาแพง เศรษฐกิจเติบโตต่ำ ขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง และความจำเป็นพื้นฐานอื่นๆ ในประเทศ
กระทั่งในที่สุดได้เกิดความพยายามก่อรัฐประหารอีกครั้งในโบลิเวีย เมื่อ 26 มิถุนายน และจบลงด้วยผู้บัญชาการทหารบกถูกจับ ในข้อหาหัวหน้ากบฏ
ผู้เขียน : อรัญญา ศรีจันทรนิตย์