เดนมาร์กวางแผนเริ่มเก็บภาษีคาร์บอนจากฟาร์มปศุสัตว์ในประเทศในปี 2573 ซึ่งหากทำสำเร็จ พวกเขาจะกลายเป็นประเทศแรกของโลกที่เริ่มใช้มาตรการนี้

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2567 ว่า รัฐบาลผสมของเดนมาร์กบรรลุข้อตกลงร่วมกับตัวแทนจากชาวไร้และกลุ่มสหภาพการเกษตรต่างๆ ว่าจะมีมาตรการเก็บภาษีคาร์บอนในภาคการเกษตร โดยจะเริ่มเก็บภาษีจากฟาร์มปศุสัตว์ทั้ง วัว แกะ และหมู ตั้งแต่ปี 2573 เป็นต้นไป

ข้อตกลงใหม่ของรัฐบาลจะถูกนำเสนอเข้าสู่รัฐสภาในเร็วๆ นี้ และคาดว่าจะผ่านความเห็นชอบได้ในช่วงปลายปี ซึ่งตามข้อตกลง เกษตรกรผู้เลี้ยงปศุสัตว์ในเดนมาร์กจะถูกเก็บภาษีคาร์บอนในอัตรา 300 โครน (43 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอัตราเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ตัน (CO2e) ในปี 2573 และจะเพิ่มเป็น 750 โครนปี 2578

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวจะถูกบังคับใช้พร้อมกับมาตรการลดภาษี 60% หมายความว่าภาษีคาร์บอนที่เกษตรกรต้องจ่ายจริงๆ คือ 120 โครนต่อ 1 ตัน CO2e ในปี 2573 และเพิ่มเป็น 300 โครนในปี 2578

โดยเฉลี่ยแล้ว โคนมของเดนมาร์ก ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของปศุสัตว์ประเภทวัวในประเทศ จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมา 5.6 ตัน CO2e ต่อ 1 ตัว ต่อ 1 ปี หมายความว่า แม้จะได้ลดภาษี 60% แต่ใน 1 ปีเกษตรกรจะต้องจ่ายภาษีคาร์บอนสูงถึง 672 โครน (2,324 บาท) ต่อวัว 1 ตัว และเพิ่มเป็น 1,680 โครน (5,811 บาท) ต่อวัน 1 ตัว ในปี 2578

ทั้งนี้ ภาษีคาร์บอน (carbon tax) คือ ภาษีที่รัฐบาลของแต่ละประเทศจะเรียกเก็บจากผู้ประกอบการและองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ไม่ว่าจะเป็นก๊าซที่เกิดจากกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ ตลอดจนกิจกรรมต่าง ๆ ในการดําเนินธุรกิจ เช่น การผลิตกระแสไฟฟ้า การบําบัดน้ำเสีย การใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อเดินทางขนส่ง ผลิตภัณฑ์ การเดินเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น

...

เดนมาร์กเป็นประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์จากนมสัตว์และเนื้อหมูรายใหญ่ และภาคการเกษตรคือภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดของเดนมาร์ก โดยการเก็บภาษีในภาคการเกษตรเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมายที่นานาชาติตกลงร่วมกัน และในข้อตกลงยังมีแผนการลงทุนมูลค่า 4 หมื่นล้านโครน ในโครงการแก้โลกร้อนต่างๆ เช่น ปลูกป่า และสร้างพื้นที่ชุ่มน้ำ

ข้อตกลงกับเป้าหมายของรัฐบาลเดนมาร์กได้รับการตอบรับที่ดีจากอุตสาหกรรมโคนมในวงกว้าง แต่ก็เรียกเสียงไม่พอใจจากเกษตรกรบางกลุ่ม

เมื่อไม่กี่เดินก่อน เกษตรกรจำนวนมากเพิ่งออกมาชุมนุมประท้วงในทั่วยุโรป นำรถแทรกเตอร์ออกมาขวางถนน เพื่อแสดงความไม่พอใจข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐสภายุโรป ที่ทำให้สินค้าของพวกเขามีราคาแพงจนแข่งขันกับสินค้านำเข้าไม่ได้

อนึ่ง เดิมทีนิวซีแลนด์ควรได้เป็นประเทศแรกของโลกที่เริ่มบังคับใช้กฎหมายเก็บภาษีคาร์บอนจากภาคการเกษตร โดยรัฐสภาของพวกเขาผ่านกฎหมายไปแล้วและจะมีผลบังคับใช้ในปี 2568 แต่กฎหมายกลับถูกถอนออกไป หลังเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากเกษตรกร และการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในปี 2566 จากฝ่ายกลางซ้ายเป็นฝ่ายกลางขวา ซึ่งประกาศจะไม่รวมภาคการเกษตรเข้าไปในมาตรการเก็บภาษีคาร์บอนแล้ว

ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign

ที่มา : cnn