เอกอัครราชทูตไทยประจำเบลเยียม เผยโอกาสที่ไทยจะได้ ‘ฟรีวีซ่าเชงเก้น’ ถือเป็นความฝันที่เป็นไปได้ เพราะเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของรัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศ
26 มิถุนายน 2567 บุญธง ก่อมงคลกูล ผู้สื่อข่าวไทยรัฐประจำเบลเยียม รายงาน นางกาญจนา ภัทรโชค เอกอัครราชทูตไทยประจำเบลเยียมคนใหม่เดินทางมาถึงกรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันที่ 9 เมษายน เริ่มปฏิบัติภารกิจทันทีด้วยการเดินทางไปเยี่ยมเยียนและร่วมงานวัดไทยหลายแห่งทั้งในเบลเยียมและลักเซมเบิร์ก เข้าพบแนะนำตัวกับเอกอัครราชทูตหลายประเทศ ผู้แทนองค์กรและสมาคมที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับประเทศไทย ทำให้คนไทยหลายคนเริ่มรู้จักคุ้นเคยกับท่านทูตคนใหม่ของเรา
เพื่อให้คนไทยที่กำลังสนใจติดตามข่าว “ฟรีวีซ่าเชงเก้น” ได้ทราบถึงพัฒนาการความคืบหน้า ความเป็นไปได้ ระยะเวลาที่คาดว่าจะทราบผลการพิจารณาของ รมต.มหาดไทย ประเทศสมาชิกเชงเก้น รวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ ผู้สื่อข่าวไทยรัฐ ประจำเบลเยียม ได้ติดต่อขอสัมภาษณ์ท่านทูตกาญจนา ภัทรโชค เอกอัครราชทูตไทยประจำราชอาณาจักรเบลเยียม ผู้ซึ่งจะปฏิบัติหน้าที่เอกอัครราชทูตประจำราชรัฐลักเซมเบิร์ก และหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรปต่อไปด้วย โดยสองตำแหน่งหลังยังรอกระบวนการขั้นตอนภายในของไทย
...
-ฟรีวีซ่าเชงเก้น ที่กำลังเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงอย่างกว้างขวางในประเทศไทย มีโอกาสความเป็นไปได้ หรือเป็นเพียงความฝัน?
เอกอัครราชทูตกาญจนา กล่าวว่า เป็นความฝันที่เป็นไปได้ และเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของรัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้พี่น้องคนไทยในการเดินทางมายุโรป และจะช่วยให้การติดต่อในระดับประชาชนระหว่างไทยและยุโรปเป็นไปอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี การดำเนินงานเรื่องนี้ไม่ง่าย ต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้งคณะกรรมาธิการยุโรป สภายุโรป และรัฐสมาชิก EU ในระดับการเมือง ท่านนายกรัฐมนตรีและท่านรัฐมนตรีต่างประเทศก็ได้หยิบยกกับผู้นำและรัฐมนตรีของประเทศสมาชิกอียูอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็มีเสียงตอบรับที่ดีจากหลายประเทศ
ในทางปฏิบัติ ปีนี้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรปและคณะกรรมาธิการยุโรปชุดใหม่ อีกทั้งยังอยู่ระหว่างการวางระบบตรวจคนเข้าเมืองใหม่ของ EU ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปีหน้า ดังนั้น EU จะกลับมาพิจารณาเรื่องนี้กับประเทศต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะไทย น่าจะช่วงกลางปีหน้าไปแล้ว
เรื่องดังกล่าวจึงต้องผลักดันกันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ไทยอยู่ในรายชื่อประเทศที่จะได้รับการพิจารณาเมื่อ EU จะเริ่มพิจารณาประเมินรายชื่อประเทศเพื่อยกเว้นวีซ่าเชงเก้นอีกครั้ง ซึ่งนอกเหนือจากไทย ยังมีอีกบางประเทศที่อยู่ระหว่างขอรับการพิจารณายกเว้นวีซ่าเชงเก้นเช่นกัน
-หลายคนยังสับสนระหว่างคำว่า ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปหรือ EU กับ ประเทศสมาชิกกลุ่ม เชงเก้น ขอให้ท่านทูตกรุณาขยายความในเรื่องนี้?
เอกอัครราชทูตกาญจนา กล่าวว่า กลุ่มประเทศสมาชิกEU คือกลุ่มประเทศยุโรปที่รวมกลุ่มกันทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ โดยมีการใช้นโยบายการเป็นตลาดเดียว การใช้เงินยูโร โดยจะต้องเป็นภาคีสนธิสัญญา EU (อาทิ Founding Treaties และ Accession Treaties) ปัจจุบัน สหภาพยุโรป หรืออียู มีสมาชิกจำนวน 27 ประเทศ และมีการออกจากการเป็นสมาชิก เช่น สหราชอาณาจักร และกำลังพิจารณาเข้าเป็นสมาชิกใหม่ อาทิ ยูเครน มอลโดวา และจอร์เจีย
ในขณะที่ ‘ความตกลงเชงเก้น’ เป็นหนึ่งในความตกลงของอียูในด้านการเปิดพรมแดนเสรี ซึ่งต่อมาได้ขยายให้ ประเทศในภูมิภาคยุโรปอื่น ๆ เข้าร่วมได้ ประเทศสมาชิกกลุ่มเชงเก้น คือกลุ่มประเทศในทวีปยุโรปที่ร่วมความตกลงเชงเก้น ซึ่งมีทั้งประเทศที่เป็นสมาชิกอียูและไม่ใช่สมาชิกอียู ปัจจุบันมีสมาชิก 29 ประเทศ ประกอบด้วยประเทศสมาชิกอียูจำนวน 25 ประเทศ และที่ไม่ใช่สมาชิกอียู จำนวน 4 ประเทศ ได้แก่ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ ส่วนประเทศสมาชิกอียูที่ไม่อยู่ในเขตเชงเก้น มี 2 ประเทศ ได้แก่ ไอร์แลนด์ และไซปรัส
ขณะเดียวกัน เอกอัครราชทูตกาญจนายังกล่าวว่า ดีใจที่ได้มาปฏิบัติหน้าที่ที่เบลเยียม ได้มีโอกาสพบพี่น้องคนไทยทั้งในเบลเยียมและลักเซมเบิร์กแล้วตามงานวัดและเทศกาลไทย ชุมชนไทยในเบลเยียมและลักเซมเบิร์กมีความเข้มแข็ง ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ในปีนี้ สถานทูตได้เริ่มประกาศรับสมัครพี่น้องคนไทยในเบลเยียม และลักเซมเบิร์ก เข้าร่วมโครงการกงสุลอาสา เพื่อรวมตัวอาสาสมัครคนไทยที่จะช่วยสถานทูตในการดูแลคนไทยในพื้นที่ต่างๆ จะมีการจัดอบรมให้ความรู้และมีกิจกรรมสร้างเครือข่ายร่วมกันในเดือนกรกฎาคม และเดือนกันยายนนี้ หากมีเรื่องใดที่ต้องการให้สถานทูตช่วยเหลือหรือให้คำแนะนำ สามารถติดต่อมาได้ เจ้าหน้าที่สถานทูตฯพร้อมดูแลช่วยเหลือ
...