เมื่อเร็วๆนี้ นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัย สหพันธรัฐแห่งซานตามาเรีย ในบราซิล ได้เผยผลการวิจัยซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลของสัตว์ชนิดหนึ่งที่ถูกขุดพบในทางตอนใต้ของบราซิล ประกอบด้วยกะโหลกศีรษะที่สมบูรณ์ กระดูกสันหลัง 11 ชิ้น กระดูกเชิงกราน และกระดูกแขนขาบางส่วน ระบุว่าเป็นฟอสซิลของสัตว์เลื้อยคลานคล้ายจระเข้ขนาดเล็ก อาศัยอยู่ในยุคไทรแอสซิกเมื่อหลายล้านปีที่แล้ว ก่อนการมาของไดโนเสาร์รุ่นแรกๆ

ฟอสซิลสัตว์เลื้อยคลานตัวนี้ได้รับการตั้งชื่อว่า Parvosuchus aurelioi เดินด้วย 4 ขา มีความยาวตัวประมาณ 1 เมตร เคยมีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 237 ล้านปีก่อน จัดเป็นสัตว์เลื้อยคลานนักล่าที่มีขนาดเล็ก โดยอยู่ในวงศ์ Gracilisuchidae ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว และจนถึงขณะนี้ก็พบสัตว์เลื้อยคลานวงศ์นี้เฉพาะในอาร์เจนตินาและจีนเท่านั้น นักบรรพชีวินวิทยาเผยว่า Gracilisuchidae เป็นสิ่งมีชีวิตที่หายากมากในโลกของฟอสซิล สัตว์กลุ่มนี้มีความน่าสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากพวกมันอาศัยอยู่ก่อนยุคไดโนเสาร์ โดยไดโนเสาร์ตัวแรกมีชีวิตอยู่เมื่อ 230 ล้านปีก่อน ซึ่งกลุ่มสุดท้ายของ Gracilisuchidae สูญพันธุ์ไปประมาณ 7 ล้านปี ก่อนที่ไดโนเสาร์ตัวแรกจะโผล่ขึ้นมา

นอกจากนี้ Parvosuchus aurelioi ยังเป็นหนึ่งในกลุ่มแรกสุดของสายพันธุ์ Pseudo suchia ที่ในเวลาต่อมาก็มีกลุ่มของจระเข้เข้ามารวมอยู่ด้วย.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่