เมื่อ 100 ล้านปีก่อน ในยุคครีเตเชียส พื้นที่ส่วนใหญ่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลียเคยอยู่ใต้น้ำทะเล มีสัตว์ทะเลอาศัยอยู่มากมาย ตั้งแต่เต่า และอิกทิโอซอร์ (Ichthyosaurs) ที่มีลักษณะคล้ายโลมา ไปจนถึงสัตว์นักล่าขนาดเท่ารถโดยสารอย่าง Kronosaurus Queenslandicus เป็นสัตว์เลื้อยคลานทะเล และเพลซิโอซอร์ (plesiosaurs) ฯลฯ ส่วนดินแดนบนบกที่เป็นป่าก็เป็นที่อยู่ของไดโนเสาร์ ขณะบนท้องฟ้าด้านบนก็เต็มไปด้วยนก และสิ่งมีชีวิตบินได้ที่ใหญ่ที่สุดแห่งยุคที่มีปีกกว้างราว 4.6 เมตร ที่เรียกว่าเทอโรซอร์ (pterosaurs)
ทั้งนี้ ในเดือน พ.ย.2564 ภัณฑารักษ์แห่งพิพิธภัณฑ์โครโนซอรัส คอร์เนอร์ ในออสเตรเลีย ได้ค้นพบซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลโครงกระดูกสัตว์ยุคก่อนประวัติศาสตร์จำนวนหนึ่งใกล้เมืองริชมอนด์ ในรัฐควีนส์แลนด์ ประกอบด้วยขากรรไกรล่างที่สมบูรณ์ ปลายกรามบน ฟัน 43 ซี่ กระดูกสันหลัง กระดูกซี่โครง กระดูกจากปีกทั้ง 2 ข้าง และส่วนหนึ่งของขา นอกจากนี้ยังมีกระดูกคอที่บางและละเอียดอ่อนมาก ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยเคอร์ติน ในออสเตรเลีย ศึกษาและระบุได้ว่าฟอสซิลนี้เป็นของเทอโรซอร์ อายุราว 100 ล้านปี ได้รับการตั้งชื่อว่า Haliskia peterseni
เมื่อพิจารณากะโหลกศีรษะ การเรียงตัวของฟัน และรูปร่างของกระดูกไหล่ ก็ชี้ว่า Haliskia peterseni เป็นสกุลและสายพันธุ์ใหม่ของเทอโรซอร์สกุลแอนแฮงกัวรา (Anhanguera) เป็นสกุลของเทอโรซอร์ที่อาศัยอยู่ทั่วโลก ทั้งบราซิล อังกฤษ โมร็อกโก จีน สเปน และ สหรัฐอเมริกา.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่