• นาตาลี เดา นักวิ่งหญิงชาวออสเตรเลีย แชมป์การแข่งขันวิ่งอัลตรามาราธอน 9 สมัย จัดโครงการวิ่งที่มีชื่อว่า "โปรเจกต์ 1000" (Project 1000) ซึ่งเป็นโปรเจกต์การวิ่งเดี่ยว ระยะทาง 1,000 กิโลเมตร จากประเทศไทย ไปสู่มาเลเซีย และสิงคโปร์
  • นาตาลีเป็นนักวิ่งอัลตรามาราธอน หรือการวิ่งที่มีระยะทางเกินกว่า 42.2 กม. แต่ทั้งชีวิตของเธอ นาตาลีไม่ได้ฝึกฝนมาในแบบของนักกีฬา เธอเพิ่งจะมาเริ่มวิ่งในช่วงอายุ 30 ปลาย เพื่อฝึกให้ร่างกายมีความแข็งแรงขึ้น
  • นาตาลีบอกหลังจากเธอวิ่งเสร็จว่า การตื่นขึ้นมาในแต่ละวันเป็น "สิ่งที่น่ากลัวที่สุด" "ฉันตื่นขึ้นมาในทุกๆ เช้าด้วยความสงสัยว่า ถ้าเกิดวันนี้ฉันวิ่งไม่ได้ขึ้นมาล่ะ?" และขณะที่อยู่ในช่วงเข้าใกล้เส้นชัย นาตาลีอธิบายว่าร่างกายของเธอรู้สึกเหมือนอยู่ในสภาวะ "แตกสลายขั้นสุด"

นาตาลี เดา นักวิ่งหญิงชาวออสเตรเลีย แชมป์การแข่งขันวิ่งอัลตรามาราธอน 9 สมัย จัดโครงการวิ่งที่มีชื่อว่า "โปรเจกต์ 1000" (Project 1000) ซึ่งเป็นโปรเจกต์การวิ่งเดี่ยว ระยะทาง 1,000 กิโลเมตร จากประเทศไทย ไปสู่มาเลเซีย และสิงคโปร์

นาตาลีกล่าวในข้อความเสียงที่เธอบันทึกไว้ที่ไหนสักแห่งตามแนวชายฝั่งตะวันออกของมาเลเซียว่า "ฉันแค่ต้องก้าวไปทีละก้าว ครั้งละหนึ่งกิโลเมตร การวิ่งอัลตรามาราธอนคือความสัมพันธ์แบบทั้งรักและเกลียด"

หลังจากนักวิ่งวัย 52 ปีรายนี้วิ่งไปแล้วมากกว่า 1 ใน 3 ของระยะทาง 1,000 กม. จากประเทศไทยไปยังสิงคโปร์ เธอเริ่มรู้สึกได้ว่าการวิ่งครั้งนี้เริ่มยากขึ้นเรื่อยๆ เธอบอกว่า "วันนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 4 วันที่ฉันตั้งคำถามว่าฉันจะทำมันให้สำเร็จได้จริงๆ หรือเปล่า ฉันชอบความท้าทายของกีฬา ชอบความดิบที่ผ่านการปรุงแต่งของทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เกลียดจุดตกต่ำเหล่านี้ และมันมักจะเกิดขึ้น"

...

นาตาลีต้องวิ่งเป็นระยะทางอย่างน้อย 84 กม. ต่อวัน หรือเทียบเท่ากับการวิ่งมาราธอนสองครั้ง เพื่อบรรลุเป้าหมายในการวิ่งให้สำเร็จภายใน 12 วัน

นาตาลีเป็นนักวิ่งอัลตรามาราธอน โดยต้องวิ่งเป็นระยะทางเกินกว่า 42.2 กม. ซึ่งเป็นระยะทางของการวิ่งมาราธอน แต่เธอไม่ได้ฝึกฝนเพื่อเป็นนักกีฬามามาตั้งแต่แรก เธอเริ่มหันมาวิ่งในขณะที่มีอายุ 30 ปีเศษ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง

แม้ว่าการวิ่งจะเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก แต่ข้อมูลชี้ให้เห็นว่าความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นมักอยู่ในประเทศตะวันตก ตัวเลขของเอเชียนั้นหาได้ยาก แม้ว่าหลายประเทศในเอเชียจะจัดการแข่งขันวิ่งมาราธอนยอดนิยม เช่น ไต้หวัน กัมพูชา และญี่ปุ่น แต่ความท้าทายคือ การแสวงหานักกีฬาที่ไม่ใช่มืออาชีพหน้าใหม่ ซึ่งเหมือนกับนาตาลีที่วิ่งเพราะเหตุผลหลายๆ อย่าง และมักจะบันทึกถึงความยากลำบากในการวิ่งของพวกเขาบนโซเชียลมีเดีย

เธอกล่าวว่า "ไม่ว่าคุณจะเข้ามาเป็นคนแรกหรือคนสุดท้าย มันไม่สำคัญ คุณได้ทำบางสิ่งที่เกือบจะเหนือมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชากรโลกเพียง 0.05% เท่านั้นที่จะทำได้"

แต่การทำทุกอย่างมีราคาที่ต้องจ่าย เธอถูกแดดเผาและเหนื่อยล้าจากการวิ่งเป็นเวลาหลายชั่วโมงภายใต้แสงแดดที่ร้อนระอุในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สะโพกของเธอเริ่มมีอาการยึดตั้งแต่วันแรก และในวันที่สาม เธอติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

ในที่สุดเธอก็ข้ามเส้นชัยในสิงคโปร์เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พร้อมด้วยนักวิ่งหลายร้อยคนที่มาคอยสนับสนุนเธอในวันธรรมดา พวกเขาสวมชุดวิ่งสีสันสดใส พวกเขาวิ่งผ่านเขตนิคมอุตสาหกรรมในช่วงเช้าตรู่ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับพนักงานที่ได้รับค่าจ้างรายวัน ที่สะพายเป้และถุงอาหารกลางวันพลาสติก กำลังเดินไปทำงาน

สิบสองวันที่ขึ้นๆ ลงๆ


นาตาลีกล่าวหลังจากที่เธอประสบความสำเร็จในการวิ่งหนึ่งวันว่า "ระยะทางที่ฉันวิ่งได้ไกลที่สุดก่อนหน้านี้คือ 200 กม. ฉันกำลังมองหาวิธีที่แตกต่างออกไปเพื่อท้าทายตัวเอง"

เธอมีความคิดที่จะวิ่งจากชายแดนไทย ผ่านมาเลเซีย ไปยังสิงคโปร์ เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว และตลอดแปดเดือนต่อมา เพื่อนๆ หลายคนมาร่วมช่วยวางแผนการวิ่ง ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่าโครงการ "โปรเจกต์ 1000"

"ตอนนั้นฉันไร้เดียงสานิดหน่อย และรู้เพียงเล็กน้อยว่าจะต้องวางแผนสำหรับการวิ่งครั้งนี้อย่างไร ทีมของฉันถามฉันในสิ่งที่ฉันไม่เคยคิดมาก่อนว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคุณต้องไปโรงพยาบาล เราจะวางแผนการข้ามพรมแดนได้อย่างไร เราจำเป็นต้องมีรถตู้ฉุกเฉินหรือไม่?"

ตลอดระยะเวลา 12 วันของการวิ่งอัลตรามาราธอน นาตาลีส่งข้อความเสียงไปยัง BBC ทุกคืน เพื่อสรุปสภาพการวิ่งในแต่ละวัน ยกตัวอย่างเช่น ในวันที่ห้า เธอกล่าวว่า "เรามีเวลาสักครู่เพื่อรับประทานอาหารเช้าจากแผงขายของริมถนน และเพลิดเพลินกับทิวทัศน์เป็นเวลาห้านาทีก่อนจะออกเดินทางอีกครั้ง วันนี้เป็นวันที่ดี แต่ฉันไม่ได้คาดหวังว่าทั้งวันจะดี เรายังต้องเดินทางอีกยาวไกล"

...

เธอและทีมของเธอจะนอนเพียงสองถึงสามชั่วโมงต่อคืน เพราะพวกเขาตัดสินใจในวันที่สามว่าเธอควรเริ่มวิ่งหลังเที่ยงคืนไม่นานเพื่อหลีกเลี่ยงความร้อนในเวลากลางวัน

เธอยังกล่าวในข้อความตอนหนึ่งว่า "การรับประทานอาหารเย็นให้เสร็จตอน 20.00 น. และตั้งนาฬิกาปลุกตอน 23.30 น. ไม่ใช่เรื่องสนุกเลย" นาตาลีกล่าวหลังวิ่งว่า การตื่นนอนในแต่ละวันเป็นสิ่งที่ "น่ากลัวที่สุด" "ฉันจะตื่นขึ้นมาทุกเช้าโดยสงสัยว่า 'ถ้าวันนี้ฉันไม่สามารถวิ่งได้ล่ะ'"

"เส้นชัยนั้นอยู่ไกลมากจนคุณนึกภาพไม่ออก ฉันมองไม่เห็นเส้นชัยในตอนท้ายของวันด้วยซ้ำ คุณต้องตั้งสติให้อยู่วิ่งไปตามเส้นทาง โดยไม่รู้ว่าเส้นชัยนั้นเป็นอย่างไร" เมื่อใกล้ถึงจุดสิ้นสุด เธอเล่าว่าร่างกายของเธอ "รู้สึกแตกสลายมาก" เธอติดพลาสเตอร์ที่นิ้วเท้าเพราะมัน "พุพองไปหมด"

เธอกล่าวในบันทึกของเธอในวันที่ 10 ว่า "ฉันอยากที่จะเดิน เหนื่อย และแค่อยากกลับบ้านไปเยี่ยมครอบครัว ฉันจะพยายามที่จะรู้สึกสนุกกับวันพรุ่งนี้ แต่บอกตามตรงว่าฉันแทบจะรอไม่ไหวที่จะข้ามพรมแดนไปยังสิงคโปร์" 

"นักวิ่งอัลตราฯ อยากที่จะรู้สึกลำบาก"

...


นาตาลีกล่าวว่า นักวิ่งอัลตรามาราธอนถือเป็น "บุคลิกภาพประเภทหนึ่ง" "ในบางส่วนของโลก เราทุกคนใช้ชีวิตค่อนข้างสบาย ดังนั้นผู้คนพยายามที่จะทำให้รู้สึกลำบากมากขึ้นอีกเล็กน้อย และการวิ่งอัลตราฯ ก็เป็นวิธีในการทำเช่นนั้น"

นอกเหนือจากความรู้สึกถึงความสำเร็จส่วนตัวแล้ว นาตาลียังกล่าวว่าเธอหวังว่าโครงการ "โปรเจกต์ 1000" จะช่วยเสริมสร้างพลังให้กับผู้หญิง การวิ่งครั้งนี้ระดมทุนได้ประมาณ 50,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 1,354,000 บาทให้กับ GRLS ซึ่งเป็นโครงการระดมทุนเพื่อการกุศล ที่ส่งเสริมให้เด็กผู้หญิงและผู้หญิงหันมาเล่นกีฬามากขึ้น

"ไม่ว่าผู้คนจะบริจาคหรือไม่ก็ตาม มันเป็นเวทีสำหรับการเผยแพร่สารนี้ออกไป" เธอกล่าวว่า "การทำเช่นนี้ในฐานะผู้หญิงที่มีอายุมาก ฉันอยากจะพิสูจน์ให้ผู้คนเห็นว่าคุณสามารถท้าทายตัวเองต่อไปได้ เรามักถูกจำกัดด้วยความเชื่อของเราเอง"

อย่างไรก็ตาม การวิ่งอัลตรามาราธอนในระดับนี้ ยังคงถือเป็นสิทธิพิเศษ เนื่องจากต้องใช้เวลาและมักต้องการผู้สนับสนุนและเจ้าหน้าที่สนับสนุน ขณะที่คนอื่นๆ ที่เข้าร่วมในการวิ่งครั้งนี้กล่าวว่า กีฬาขั้นพื้นฐานยังคงเปิดกว้างสำหรับคนจำนวนมาก

...

จอห์น เอลลิส นักวิ่งอัลตรามาราธอนจากฮ่องกงกล่าวว่า "คุณไม่ต้องการอะไรนอกจากรองเท้าสักคู่" 

"เมื่อมองการวิ่งมาราธอนจากมุมมองด้านสังคมและการแข่งขันก็ถือว่าสนุก แต่โลกนี้ช่างกว้างใหญ่และเป็นสถานที่ที่ยอดเยี่ยม และเป็นเรื่องดีที่ได้ออกไปทำมันไปพร้อมกับก้าวข้ามขีดจำกัดและค้นหาสิ่งใหม่ๆ เกี่ยวกับตัวคุณเอง"

แมรี ฮุย นักข่าวจากฮ่องกงที่วิ่งเทรลระยะไกล กล่าวว่าสังคมนักวิ่งอัลตราฯ เป็น "ชุมชนที่น่าอยู่" เช่นกัน เธอบอกว่า "การวิ่งเป็นกลุ่มใหญ่ การได้สื่อสารกันมากมายทั้งก่อนและหลัง การได้ร่วมฝึกซ้อมหลายชั่วโมง คุณจะสังเกตได้ว่าแม้แต่นักวิ่งที่เก่งที่สุดก็อาจมีวันที่แย่บนเส้นทางวิ่งได้ การวิ่งเป็นกลุ่มสามารถลดอุปสรรคลงได้"

เมื่อถามว่าประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นหลังการวิ่งเสร็จสิ้นนั้น คุ้มค่ากับความเจ็บปวดหรือไม่ นาตาลีตอบว่า "หากนับว่าเป็นการผจญภัยและประสบการณ์ ก็ถือว่าคุ้มค่า" และเมื่อถามว่าเธอจะวิ่งแบบนี้อีกครั้งหรือไม่? เธอก็ครุ่นคิดสักพักหนึ่ง และให้คำตอบด้วยเสียงหัวเราะแบบประหม่า.

ที่มา BBC

ติดตามข่าวต่างประเทศเพิ่มเติมที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign