สัตว์หลายชนิดมีประสาทรับกลิ่นที่น่าทึ่ง เช่น สุนัข แต่นักวิจัยก็พบว่าแมลงก็มีประสาทรับกลิ่นที่ดีเยี่ยม ล่าสุดทีมวิจัยจากวิทยาลัยวิศวกรรม ศาสตร์และสถาบันวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา เผยงานวิจัยลงวารสาร Biosen sors and Bioelectronics ระบุ “ผึ้ง” สามารถแยกแยะสารเคมีในลมหายใจของมนุษย์ ตรวจจับตัวบ่งชี้ทางชีวภาพหรือความเข้มข้นของสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งปอดในลมหายใจมนุษย์ได้
ทีมวิจัยเผยว่า ได้พัฒนาสูตรสำหรับส่วนผสมของลมหายใจสังเคราะห์ โดยใช้สาร ประกอบ 6 ชนิดที่แตกต่างกัน เช่น ไตรคลอโรเอทีลีน (trichloroethylene) และ 2-เมทิลเฮปเทน (2-methylheptan) รวมกับการเพาะเลี้ยงเซลล์มะเร็ง เพื่อสร้างส่วนประกอบทางเคมีของลมหายใจของคนที่เป็นมะเร็งปอด และส่วนผสมลมหายใจสังเคราะห์ที่มีสุขภาพดี และให้ผึ้ง 20 ตัวมาแยกลมหายใจสังเคราะห์ที่มีมะเร็งปอด กับลมหายใจที่สุขภาพดี โดยใส่สายรัดที่พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ติดขั้วไฟฟ้าจิ๋วไว้ตรงสมองผึ้ง เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงใดๆในสัญญาณสมองผึ้ง
ตัวรับสัญญาณทางประสาทจากสมองของผึ้งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงในการตอบสนองของระบบประสาทผึ้ง ผึ้งแยกแยะความแตกต่างของการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในความเข้มข้นทางเคมีของส่วนผสมของลมหายใจ อีกสิ่งที่น่าทึ่งคือผึ้งยังแยกแยะระหว่างเซลล์ของมะเร็งปอดประเภทต่างๆ ได้ด้วย การค้นพบนี้อาจใช้เป็นแบบจำลองในการพัฒนาการทดสอบใหม่เพื่อวินิจฉัยมะเร็งปอดได้ตั้งแต่เนิ่นๆ.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่