สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ ประกาศเสนอค่าชดเชยให้กับผู้โดยสารบนเที่ยวบิน SQ321 ซึ่งเผชิญเหตุตกหลุมอากาศรุนแรง ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บหลายสิบคน และมีผู้เสียชีวิต 1 ศพ

สิงคโปร์แอร์ไลน์ ระบุว่า ผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยจะได้รับเงิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 367,700 บาท ส่วนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส สามารถหารือเกี่ยวกับข้อเสนอที่ตรงตามความต้องการเฉพาะของแต่ละบุคคลได้ 

"ผู้โดยสารที่ได้รับการประเมินทางการแพทย์ว่าได้รับบาดเจ็บสาหัส ที่ต้องได้รับการรักษาพยาบาลในระยะยาว และการร้องขอความช่วยเหลือทางการเงิน จะได้รับเงินล่วงหน้า 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อตอบสนองความต้องการเร่งด่วนของพวกเขา" ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงขั้นสุดท้าย

เหตุการณ์เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ทำให้ผู้โดยสารชาวอังกฤษวัย 73 ปี เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวาย และบาดเจ็บหลายสิบคน หลังจากเที่ยวบิน SQ321 พร้อมผู้โดยสาร 211 คน รวมทั้งชาวออสเตรเลีย ชาวอังกฤษ และสิงคโปร์จำนวนมาก และลูกเรือ 18 คนบนเที่ยวบินที่เดินทางจากกรุงลอนดอนไปยังสิงคโปร์ เผชิญกับสภาพอากาศแปรปรวนอย่างรุนแรงขณะบินเหนือเมียนมา ก่อนที่เครื่องบินจะเปลี่ยนเส้นทางและลงจอดฉุกเฉินที่กรุงเทพฯ

ผู้โดยสารกล่าวว่า ลูกเรือและผู้ที่ไม่รัดเข็มขัด ชนกระแทกเข้ากับเพดานห้องโดยสาร จนทำให้เพดานแตก โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ที่ทำการรักษาระบุว่า ผู้โดยสารมีอาการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง สมอง และกะโหลกศีรษะ และจากข้อมูลของสิงคโปร์แอร์ไลน์ จนถึงวันที่ 4 มิถุนายน ผู้โดยสาร 20 รายยังคงได้รับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ 

สิงคโปร์แอร์ไลน์ยังกล่าวว่า จะคืนเงินค่าตั๋วเครื่องบินให้กับผู้โดยสารทุกคนบนเที่ยวบิน และพวกเขาจะได้รับค่าชดเชยความล่าช้าตามกฎระเบียบในสหภาพยุโรปหรือสหราชอาณาจักร และได้มอบเงิน 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 27,170 บาท ให้กับผู้โดยสารทุกคนเพื่อใช้จ่ายในทันทีเมื่อออกจากกรุงเทพฯ

...

รายงานเบื้องต้นของกระทรวงคมนาคมของสิงคโปร์ ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของแรงโน้มถ่วงและระดับความสูงที่ลดลง 54 เมตร มีแนวโน้มว่าจะทำให้ผู้โดยสารและลูกเรือกระเด็นลอยไปในอากาศ โดยระบุว่า เครื่องบินลำนี้น่าจะบินอยู่เหนือพื้นที่ที่มี "การลอยตัวขึ้นของอากาศเนื่องจากความร้อน" ซึ่งเป็นคำที่หมายถึงการก่อตัวของสภาพอากาศเลวร้าย

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ความเข้มงวดเรื่องการรัดเข็มขัดนิรภัย กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง เนื่องจากสายการบินต่างๆ มักอนุญาตให้ผู้โดยสารปลดเข็มขัดนิรภัยในระหว่างการโดยสารตามปกติ แม้จะแนะนำให้รัดเข็มขัดตลอดเวลาก็ตาม.

ที่มา Reuters

ติดตามข่าวต่างประเทศเพิ่มเติมที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign