ผู้อ่านท่านครับ หลังจากสงครามรัสเซีย-อูเครนซึ่งมีผู้อพยพจากอูเครนรวมทั้งผู้อพยพจากตะวันออกกลางสร้างปัญหากระจายไปทั่วสหภาพยุโรป ทำให้ผู้คนเริ่มเอือมระอาและหันไปหาพวกฝ่ายขวาชาตินิยมมากขึ้น จะเห็นว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรประหว่าง 6-9 มิถุนายน 2024 พวกฝ่ายขวาในฝรั่งเศสและออสเตรียได้จำนวนสมาชิกสูงสุด ในเนเธอร์แลนด์และเยอรมนีฝ่ายขวาก็ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 2

ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรปทำให้แอมานูแอล ฌ็อง-มีแชล มาครง รู้สึกว่าคะแนนนิยมของตนเองและของพรรคไม่มั่นคง จำเป็นต้องคืนอำนาจให้กับประชาชนเพื่อให้ประชาชนคนฝรั่งเศสตัดสินใจว่า จะยังยอมรับการบริหารประเทศจากมาครงและพวกหรือไม่

ระหว่าง ค.ศ.2006-2009 มาครงร่วมงานกับพรรคสังคมนิยม จากนั้นก็มาเป็นนักการเมืองอิสระ พอมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีของตัวเองใน ค.ศ.2017 ก็ตั้งพรรคการเมืองชื่อพรรคอ็องมาร์ช หรือพรรคสาธารณรัฐใหม่ ที่มีอุดมการณ์เป็นพรรคกลาง มีแนวคิด เกี่ยวกับสังคมนิยม-เสรีนิยมประชาธิปไตย และสนับสนุนการดำรงอยู่ของสหภาพยุโรป

ประธานาธิบดีฝรั่งเศสมีวาระ 5 ปี การเลือกตั้งประธานาธิบดีของมาครงสมัยที่ 2 แกเป็นหัวหน้าพรรคเรอแนซ็องส์ วาระของมาครง จะจบลงใน ค.ศ.2027 แต่ขณะนี้ความนิยมของมาครงลดลงจากปัญหาสารพัด ทำให้มาครงยุบสภา และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่

ผู้อ่านท่านครับ สภาของฝรั่งเศสเป็นแบบสภาคู่ มีสภาล่างที่เรียกว่าสมัชชาแห่งชาติ มีสมาชิกสภา 577 คน มาจากการเลือกตั้งทางตรง และมีวุฒิสภาทำหน้าที่เป็นสภาสูงหรือสภากลั่นกรอง มีสมาชิกทั้งหมดไม่เกิน 348 คน มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม

มาครงยุบสมัชชาแห่งชาติและให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยรอบแรก เลือก 30 มิถุนายน และรอบที่สอง 7 กรกฎาคมที่จะถึง สถาบันการเมืองในฝรั่งเศสมีทั้งประธานาธิบดีที่ทำหน้าที่ประมุขของรัฐ และรัฐบาลซึ่งทำหน้าที่บริหารรัฐการแผ่นดิน ประธานาธิบดีเลือกโดยตรงจากประชาชนทั้งประเทศ ส่วนหัวหน้ารัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดีจะแต่งตั้งจากหัวหน้าพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดในสมัชชาแห่งชาติ

...

มีการทำนายทายว่า การเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติชุดใหม่ พรรคฝ่ายขวาจะได้จำนวนสมาชิกมากขึ้น (เหมือนการเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรป) และถ้าเป็นเช่นการทำนายทายทักนี้ การทำงานของมาครง ก็จะมีปัญหา ติดกึก ติดกัก ถ้าประชาชนยังเชื่อมั่นมาครงก็จะเลือก สมาชิกของพรรคของมาครงเข้ามาเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติจำนวนมาก การยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่เป็นทางออกที่มาครง ไม่สามารถจะเลี่ยงได้

ฝรั่งเศสมีพรรคการเมืองหลายพรรค แต่แบ่งเป็น 2 ขั้วหลักคือขั้วฝ่ายซ้าย เช่น พรรคคอมมิวนิสต์ พรรคสังคมนิยม ฯลฯ และขั้วฝ่ายขวา เช่น พรรคสาธารณรัฐ พรรคสหภาพประชาธิปไตยและเอกราช พรรคแนวร่วมประชาชาติ แต่ถ้าจะแยกย่อยลงไปอีก พรรคการเมืองในฝรั่งเศสก็จะแบ่งเป็นพรรคซ้ายจัด ซ้ายกลาง กลาง ขวากลาง และขวาจัด

มาครงเคยเป็นรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจในยุคที่ฟร็องซัวส์ ออลล็องต์ จากพรรคสังคมนิยมเป็นประธานาธิบดี หมดยุคออลล็องต์ก็เป็นยุคของมาครง มาครงต้องเผชิญปัญหาของผู้อพยพที่เข้ามาสู่ยุโรปเพิ่มขึ้น ต้องแก้ไขปัญหาคนว่างงานภายในประเทศ ความมั่นคง ปลอดภัยของการก่อการร้าย การเป็นประธานาธิบดีในสมัยแรก มาครง เจอการประท้วง รูปแบบใหม่ของกลุ่มเสื้อกั๊กเหลือง ผู้อ่านท่านผู้เจริญ ยังจำพวกเสื้อกั๊กเหลืองได้นะครับ ตอนแรกพวกนี้ประท้วงการขึ้นภาษีคาร์บอน ต่อมาก็ชุมนุมประท้วงเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำของวิถีชีวิตของสังคมฝรั่งเศส

เปิดฟ้าส่องโลกเริ่มรับใช้ผู้อ่านท่านที่เคารพใน ค.ศ.1997 ในยุคประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่ชื่อ ฌาค ชีรัค ยังจำได้ว่า ในปีแรกที่เปิดฟ้าส่องโลกรับใช้ผู้อ่านไทยรัฐ ตอนนั้นชีรัคก็ตัดสินใจยุบสภาที่จะเรียกคะแนนนิยมกลับคืน แต่ก็ทำไม่สำเร็จ ทำให้ต้องตั้งนายลีโอแนล ฌอซแป็ง จากพรรคสังคมนิยมให้เป็นนายกรัฐมนตรี

ความที่ประธานาธิบดีกับนายกรัฐมนตรีมาจากคนละขั้ว คนละพรรค ทำให้เกิดภาวะรัฐบาลร่วมที่อ่อนแอมาก ฝรั่งเศสเป็นประเทศสำคัญในยุโรป หากการเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติที่จะถึง ฝ่ายขวาได้คะแนนมาก มาครงก็จะต้องตั้งคนของฝ่ายขวาเป็นนายกรัฐมนตรี คราวนี้ ความวุ่นวายขายปลาช่อนของแท้ก็จะมาเยือนฝรั่งเศสและสหภาพยุโรป.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย

คลิกอ่านคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” เพิ่มเติม