เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.นายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เผยความในใจผ่านโซเชียลมีเดีย “เอ็กซ์” เป็นครั้งแรก หลังประกาศยุบสมัชชาแห่งชาติ หรือสภาผู้แทนราษฎรฝรั่งเศสอย่างกะทันหัน และเตรียมเลือกตั้ง สส.ครั้งใหม่ จนสร้างความประหลาดใจไปทั่วโลกเมื่อช่วงค่ำวันที่ 9 มิ.ย.ตามเวลาท้องถิ่น โดยมาครงระบุว่ามั่นใจในความสามารถของชาวฝรั่งเศสที่จะตัดสินใจเลือกในสิ่งที่ถูกต้องสำหรับตนเองและคนรุ่นต่อๆไป ขณะเดียวกันยังโปรยคำหวานว่ามีความปรารถนาเพียงประการเดียวก็คือทำประโยชน์ให้กับประเทศฝรั่งเศสที่ตนเองรักมาก
ทั้งนี้ การประกาศเดิมพันอนาคตทางการเมือง ครั้งใหญ่ของมาครงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังนายจอร์แดน บาร์เดลลา วัย 28 ปี ผู้นำพรรคเนชันแนลแรลลี (RN) แกนนำพรรคฝ่ายค้านฝรั่งเศสที่มีแนวคิดขวาจัดของนางมาริน เลอเปน เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรประหว่างวันที่ 6-9 มิ.ย.อย่างถล่มทลายด้วยคะแนนเสียง 31.5% มากกว่านางวาเลรี เฮเยอร์ ตัวแทนจากพรรคเรอเนซองส์ (RE) พรรคสายกลางของนายมาครง ที่ได้มา 14.6% เป็นความพ่ายแพ้อย่างน่าอัปยศอดสู แต่ก็สอดคล้องกับผลโพลไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ฝรั่งเศสจะเข้าสู่การเลือกตั้ง สส.ชุดใหม่ในวันที่ 30 มิ.ย. ต่อด้วยรอบ 2 ในวันที่ 7 ก.ค.ไม่ถึง 1 เดือนก่อนเริ่มถึงมหกรรมกีฬาโอลิมปิกในวันที่ 26 ก.ค.
นักวิเคราะห์การเมืองทั่วโลกมองว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวของมาครงเป็นความเสี่ยงครั้งใหญ่ ปัจจุบันพรรค RE ของมาครงมีผู้แทน 169 คนในสภาผู้แทนราษฎรฝรั่งเศสและพรรค RN มี สส. 88 คน หากพรรคขวาจัดชนะเสียงข้างมากในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ย่อมทำให้ประธานาธิบดีเสียการควบคุมนโยบายส่วนใหญ่ภายในประเทศ ขณะที่มาครงหวังใช้โอกาสนี้เตะตัดขาและทำลายโมเมนตัมของพรรคขวาจัดที่กำลังผงาดได้รับความนิยมสูง และให้นางเลอเปนเผชิญความจริงที่ว่าแม้จะชนะการเลือกตั้งในยุโรป แต่ไม่น่าจะชนะมากพอ ที่จะบริหารประเทศ
...
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจโดยพรรค เล เรพุบลิแก็ง ที่รั่วไหลเมื่อเดือน ธ.ค.เผยให้เห็นว่าพรรค RN ที่มีนโยบายงดส่งความช่วยเหลือให้ยูเครน และต้องการออกจากองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) อาจได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง สส. ระหว่าง 243-305 คน มากเกินเกณฑ์ครองเสียงข้างมากในสภา จากปัจจุบันที่มี 88 คน หากเป็นเช่นนั้นจะเกิดกรณีที่ประธานาธิบดีมาจากพรรคหนึ่งและนายกรัฐมนตรีมาจากอีกพรรคหนึ่งที่มีเสียงข้างมาก โดยที่มาครงจะต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจาก RN เพื่อรับผิดชอบการกำหนดนโยบายของรัฐบาลต่อไป และเป็นไปได้ว่าบาร์เดลลา หรือเลอเปน อาจได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่