ฉันนั่งตกปลาอยู่ริมตลิ่ง แปลกใจฉันจริงปลาไม่กินเหยื่อ...นั่งตกอยู่นานจนฉันนึกเบื่อ ปลาไม่กินเหยื่อน่าแปลกใจ ถามว่าการนั่งตกปลากับการลงทุนเกี่ยวข้องกันยังไง
“เซีย ฌอน” บอกเล่าเรื่องราวของ “เม่าอยากรวย” กับ “ชายชรานักตกปลา” ที่มีภูมิปัญญาการเงินการลงทุนอันเฉียบแหลมไว้ในหนังสือ “Gone Fishing with Buffet” เสมือนพาไปนั่งตกปลากับคุณปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ปรมาจารย์นักลงทุนหุ้นแบบเน้นคุณค่า โดยนำประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้หลักการลงทุนจากบัฟเฟตต์ และนำไปประยุกต์ใช้จนสามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองได้สำเร็จ มาบอกเล่าต่อในแบบที่เข้าใจง่ายทีละขั้นละตอน
“เม่าอยากรวย” ผู้ผิดหวังมาจากการเก็งกำไรหุ้นในอดีต กำลังดิ้นรนหาวิธีการลงทุนที่ถูกต้อง เพื่อแก้ไขความผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า และกอบกู้พอร์ตเพื่อสร้างความมั่งคั่งทางการเงิน วันหนึ่งเขาได้พบกับ “ชายชรานักตกปลา” ผู้ชื่นชอบการกินแฮมเบอร์เกอร์และดื่มโค้กเป็นชีวิตจิตใจ ซึ่งก็คือ “คุณปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์” นั่นเอง แค่มีโอกาสคุยกับ “คุณปู่นักตกปลาผู้ลึกลับ” ไม่กี่ประโยค ก็สัมผัสถึงความแหลมคมทางความคิด ที่ภายหลังได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของชายหนุ่มไปตลอดกาล
บทเรียนจาก “คุณปู่นักตกปลา” ทำให้ “เม่าอยากรวย” ตาสว่างขึ้นโดยพลัน คุณปู่เปลี่ยนมายด์เซตของเม่านักเก็งกำไร ด้วยการให้ข้อคิดและบทเรียนเรียบง่ายแต่ลึกซึ้งที่เป็นแก่นหลักของปรัชญาการตกปลา
“จงเลือกแหดักปลา ไม่ใช่เบ็ดตกปลา” คุณปู่ชวนหนุ่มเม่าอยากรวยไปแข่งตกปลา โดยกำหนดเวลาให้ 1 ชั่วโมง ใครตกปลาได้มากกว่าจะเป็นฝ่ายชนะ ตอนแรกชายหนุ่มตกปลาได้มากกว่าเพราะเลือกใช้เบ็ดตกปลา แต่ก่อนจะหมดเวลาแข่งขัน คุณปู่ดึงแหดักปลาที่ซ่อนอยู่ขึ้นมา และพลิกเป็นฝ่ายชนะไปในที่สุด เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เม่าอยากรวยค้นพบเคล็ดวิชาการตกปลาไปพร้อมกับการลงทุน โดยชายชราให้บทเรียนล้ำค่าว่าการเลือกธุรกิจที่จะลงทุนเปรียบเสมือนการแข่งตกปลา จงเลือกธุรกิจที่ใช้แหดักปลาคือมีความได้เปรียบคู่แข่งในระยะยาว และสามารถชนะคู่แข่งได้อย่างแน่นอน
...
“อย่าขาดทุน” คือกฎเหล็กข้อหนึ่งที่ชายชรานักตกปลามอบให้เม่าอยากรวยตั้งแต่ครั้งแรกที่พบกัน เพราะเมื่อเงินก้อนหนึ่งของเราขาดทุนไป 50% กว่าจะลงทุนให้เงินที่ขาดทุนก้อนนั้นโตกลับมาในจำนวนเท่าเดิม จะต้องทำผลตอบแทนให้ได้ถึง 100% นี่คือเหตุผลที่ห้ามขาดทุนเด็ดขาด เพราะเราจะต้องให้เงินทำงานหนักขึ้นเป็นสองเท่า เพื่อกอบกู้สถานการณ์
“ความเสี่ยงเกิดจากการละเลย” ถ้าเราซื้อหุ้นโดยที่ไม่รู้ว่าหุ้นที่ซื้อทำกิจการอะไร ยอดขายในแต่ละปีดีไหม มีโอกาสเติบโตมากน้อยขนาดไหน แต่ซื้อหุ้นเพราะรู้จักเจ้าของ ได้ยินข่าวอินไซต์ หรือซื้อตามเสียงเชียร์ของนักวิเคราะห์ โอกาสประสบความสำเร็จในการลงทุนย่อมมีต่ำ คิดดูว่าในชีวิตจริงต่อให้เพื่อนสนิทมาชวนลงทุน หรือเสนอขายธุรกิจให้ เรายังต้องศึกษาอย่างละเอียดว่าธุรกิจดังกล่าวดีจริงไหม มีโอกาสรุ่งไหม และมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน หรือคิดง่ายๆว่าเวลาจะไปเดินป่า ถ้าไม่เตรียมตัวเลย แน่นอนว่าย่อมมีความเสี่ยงสูงไม่ว่าทำอะไรต้องศึกษาให้ถึงไส้ในจริงๆ พลิกดูเหลี่ยมมุมให้รู้ทุกซอกทุกมุม ขอให้ซื้อหุ้นเหมือนซื้อถุงเท้า ต้องทดสอบให้รู้แน่ว่าใส่ดีใส่ทนและนุ่มสบายเท้า ถึงจะยอมจ่ายเงินซื้อคู่ต่อไป
วิธีหาราคาที่สมเหตุสมผล “Price is what you pay, Value is what you get.” ราคาคือสิ่งที่เราจ่ายออกไป แต่มูลค่าคือสิ่งที่เราได้รับมา นี่คือวลีเด็ดของคุณปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากอาจารย์ใหญ่ “เบนจามิน เกรแฮม” บิดาแห่งการลงทุนเน้นคุณค่า เมื่อเราวิเคราะห์หุ้นที่เราสนใจ จนประเมินอนาคตได้แล้วว่ากิจการของหุ้นนั้นสามารถเติบโตไปอย่างไรได้บ้าง ให้ย้อนกลับมาดูราคาที่เราต้องจ่ายไปเพื่อซื้อหุ้นนั้นในวันนี้ ว่าเหมาะสมกับมูลค่าที่จะได้รับหรือไม่
ที่สำคัญจะลงแรงตกปลาทั้งที นอกจากต้องตรวจเช็กเครื่องไม้เครื่องมือให้ดีแล้ว การเลือกบ่อตกปลาก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะขืนไปนั่งตกปลาในบ่อที่แห้งเหือด ต่อให้ขยันขันแข็งออกแรงแค่ไหน ก็คงกลับบ้านมือเปล่า!!
มิสแซฟไฟร์
คลิกอ่านคอลัมน์ “คนดังอะราวนด์เดอะเวิลด์” เพิ่มเติม