กาแล็กซีชนิดก้นหอยหรือทรงกังหันแบบมีคาน (Barred spiral galaxy) นั้นมีจำนวนมากกว่ากาแล็กซีชนิดก้นหอยปกติและกาแล็กซีทรงรีรวมกัน โดยมีจำนวนประมาณ 60% ของกาแล็กซีทั้งหมด โครงสร้างคานที่มองเห็นได้นั้นเป็นผลมาจากวงโคจรของดวงดาวและก๊าซในกาแล็กซีที่เรียงตัวกัน ก่อให้เกิดบริเวณหนาแน่นที่ดาวแต่ละดวงเคลื่อนเข้าและออกจากบริเวณนั้นเมื่อเวลาผ่านไป

ล่าสุดกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล เครื่องมือความร่วมมือขององค์การนาซา สหรัฐอเมริกา และองค์การอวกาศยุโรป ได้แสดงรายละเอียดจากการใช้ข้อมูลที่รวบรวมจากตัวกรองหรือฟิลเตอร์ 6 แบบที่แตกต่างกันของกล้องฮับเบิลในกาแล็กซีชนิดก้นหอยแบบมีคาน ซึ่งมีขนาดกว้างใหญ่ ชื่อว่า NGC 4731 ตั้งอยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาว อยู่ห่างจากโลกประมาณ 43 ล้านปีแสง เผยให้เห็นสีสันสดใสของกลุ่มก๊าซที่พลิ้วไหวและแถบฝุ่นสีเข้ม โดยบริเวณสีชมพูสดใสเป็นแหล่งกำเนิดดวงดาว ขณะที่เห็นได้ชัดที่สุดคือแถบยาวเรืองแสงที่แขนเกลียว

นักดาราศาสตร์เผยว่า กาแล็กซีชนิดก้นหอยดูเหมือนจะสร้างแถบที่ศูนย์กลางเมื่อพวกมันเติบโต ซึ่งจะช่วยอธิบายจำนวนคานจำนวนมากที่เห็นในกาแล็กซีชนิดเดียวกันที่พบในปัจจุบันได้ แต่กาแล็กซีชนิดก้นหอยอาจสูญเสียคานได้เช่นกันหากมวลที่สะสมตามคานนั้นไม่เสถียร.

Credit : ESA/Hubble & NASA, D. Thilker

...

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่