อุณหภูมิโลกร้อนทุบสถิติต่อเนื่องตลอดช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ทำให้สหประชาชาติออกมาเตือนว่า เราต้องรีบหาทางออกจากถนนที่มุ่งไปสู่สภาพอากาศนรก
เมื่อ 5 มิ.ย. 2567 ‘โครงการบริหารการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัส’ (C3S) ซึ่งเป็นหน่วยงานติดตามความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศของสหภาพยุโรป เปิดเผยว่า อุณหภูมิของแต่ละเดือนในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มตั้งแต่มิถุนายน 2566 ทำลายสถิติสูงสุดตลอดกาล เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้านั้น
C3S บอกด้วยว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของช่วง 12 เดือนดังกล่าว จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม สูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยในยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมถึง 1.63 องศาเซลเซียส ทำให้ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดนับตั้งแต่พวกเขาเริ่มเก็บสถิติในปี 2483
อย่างไรก็ตาม ค่าเฉลี่ย 1.63 องศาเซลเซียสที่ว่านั้น ไม่ได้หมายความว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเกินขีดจำกับ 1.5 องศาเซลเซียส ที่นานาประเทศตั้งเอาไว้ เพราะต้องคิดคำนวณค่าเฉลี่ยจากช่วงเวลายาวนานกว่านั้นอย่างน้อยหลายทศวรรษ
ขณะเดียวกัน องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ของสหประชาชาติ ประเมินว่า ตอนนี้มีโอกาสถึง 80% แล้ว ที่อย่างน้อย 1 ในช่วง 5 ปีข้างหน้าจะกลายเป็นปีแรกที่โลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่ายุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตลอดทั้งปี เพิ่มขึ้นจากการประเมินในปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 66%
นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ พูดถึงการค้นพบทั้ง 2 ฉบับว่า รายงานนี้กำลังเน้นย้ำว่าโลกนี้กำลังมุ่งไปผิดทาง และออกห่างจากการฟื้นฟูเสถียรภาพของระบบสภาพอากาศ
“ในปี 2558 โอกาสที่อุณหภูมิจะสูงเกินเกณฑ์อยู่ที่เกือบ 0%” นายกูเตร์เรส กล่าวและเสริมว่า เวลาในการย้อนคืนสถานการณ์กำลังจะหมดลงแล้ว พร้อมเรียกร้องให้ทั่วโลกลดการใช้และการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลลง 30% ภายในปี 2573
...
“เราต้องการทางลาดสำหรับออกจากถนนหลวงที่มุ่งไปสู่สภาพอากาศนรก (climate hell)” เลขาธิการยูเอ็น กล่าว “การต่อสู้เพื่ออุณหภูมิ 1.5 องศาฯ จะรู้ผลแพ้ชนะภายในยุคปี 2020 นี้”.
ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign
ที่มา : cna