กลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธหลายกลุ่มแผ่อิทธิพลควบคุมพื้นที่ได้มากขึ้น หลังรัฐบาลทหารเมียนมาเสียการควบคุมพื้นที่เป็นวงกว้าง รวมถึงการเข้าถึงพรมแดนระหว่างประเทศ
รายงาน 2 ฉบับที่ประเมินความขัดแย้งในเมียนมา ระบุว่า รัฐบาลทหารของเมียนมาสูญเสียการควบคุมพื้นที่เป็นวงกว้าง ซึ่งรวมถึงการเข้าถึงพรมแดนระหว่างประเทศ ทำให้กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์สามารถขยายและรวบรวมภูมิภาคภายใต้การควบคุมได้เพิ่มขึ้น
เมียนมาตกอยู่ในความวุ่นวายนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 เมื่อทหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งนำโดยนางออง ซาน ซูจี ซึ่งจุดชนวนให้เกิดการประท้วงอย่างกว้างขวาง ที่นำไปสู่การปราบปรามอย่างรุนแรง ได้แปรสภาพไปสู่การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลด้วยอาวุธของกองทัพกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมาก ก่อให้เกิดความท้าทายที่สำคัญต่อกองทัพเมียนมาในรอบหลายทศวรรษ
จากการระบุของสภาที่ปรึกษาพิเศษสำหรับเมียนมา (SAC-M) รัฐบาลทหารเมียนมาได้สูญเสียอำนาจโดยสิ้นเชิงเหนือเมืองต่างๆ ที่ครอบคลุมพื้นที่ 86% ของประเทศ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของประชากร 67%
SAC-M ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศอิสระ ที่จัดตั้งขึ้นหลังการรัฐประหารเพื่อสนับสนุนการกลับมาของประชาธิปไตย กล่าวในเอกสารสรุปว่า "รัฐบาลเผด็จการทหารไม่ได้ควบคุมดินแดนของเมียนมามากพอที่จะรักษาหน้าที่หลักของรัฐ" และกล่าวว่า "รัฐบาลเผด็จการได้ละทิ้งดินแดนสำคัญและถูกบีบให้ต้องเป็นฝ่ายตั้งรับในพื้นที่ที่รัฐบาลยังควบคุมอยู่ในเวลานี้"
"ปฏิบัติการ 1027" ซึ่งเป็นปฏิบัติการรุกร่วมเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว นำโดยกองทัพชาติพันธุ์ 3 กองทัพ ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงกองทัพที่อ่อนแอลง ซึ่งจำเป็นต้องสละพื้นที่แนวชายแดนทางตอนเหนือของเมียนมา นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การรุกรานกองทัพชาติพันธุ์อีกหลายครั้ง ได้ผลักดันรัฐบาลทหารต้องออกจากพื้นที่รอบนอกตลอดแนวชายแดนติดกับประเทศไทย ไปจนถึงบริเวณชายฝั่งทะเลเลียบอ่าวเบงกอล
...
"ไครซิส กรุ๊ป" องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ระบุในรายงานว่า "กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ได้รับชัยชนะหลายครั้ง กำลังรวบรวมการควบคุมพื้นที่ดินแดนมาตุภูมิที่ขยายใหญ่ขึ้น โดยที่หลายกลุ่มกำลังอยู่ระหว่างการสถาปนารัฐอิสระ"
ไครซิส กรุ๊ป ยังระบุว่า ความสูญเสียที่เพิ่มมากขึ้นของกองทัพ และความตกตะลึงต่อข่าวดังกล่าวในกลุ่มชนชั้นนำในกรุงเนปิดอว์ ส่งผลให้อนาคตของมิน ออง หล่าย ผู้นำเผด็จการทหาร ตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างมาก แม้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ยังมีความภักดีต่อเขาก็ตาม คำแถลงระบุว่า "เขาอาจจะสามารถรักษาตำแหน่งของเขาไว้ได้ แต่เมื่อพิจารณาถึงระดับความไม่พอใจ เขาก็ยังต้องเผชิญกับแผนการที่จะขับเขาออกจากตำแหน่ง
รายงานทั้งสองฉบับระบุว่า เนื่องจากรัฐบาลเผด็จการทหารสูญเสียการควบคุมพรมแดนเกือบทั้งหมดของประเทศ และฝ่ายบริหารที่ไม่ใช่รัฐมีแนวโน้มที่จะขยายตัว ประเทศเพื่อนบ้าน กลุ่มภูมิภาค และประชาคมระหว่างประเทศ ควรเพิ่มการมีส่วนร่วมกับกลุ่มต่อต้าน
ตามการระบุของหน่วยงานสหประชาชาติ สถานการณ์การพลัดถิ่นภายในประเทศในเมียนมาพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยประชาชนมากกว่า 3 ล้านคนต้องอพยพออกจากถิ่นฐาน เนื่องจากความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้น
ยางฮี ลี หนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้ง SAC-M กล่าวว่า "ประชาคมระหว่างประเทศต้องเข้าใจความเป็นจริงนี้ และทำงานโดยตรงกับหน่วยงานต่อต้านและภาคประชาสังคมเพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแก่ชาวเมียนมา".
ที่มา Reuters
ติดตามข่าวต่างประเทศเพิ่มเติมที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign