ข้อใหญ่ใจความของงานวิจัย Geophysical Research Letters เผยแพร่เมื่อ ค.ศ.2023 บอกว่า ค.ศ.1979-2020 มี CAT หรือ Clear Air Turbulence (ภาวะกระแสลมแปรปรวนที่ทำให้เกิดหลุมอากาศทั้งที่อากาศแจ่มใส) เพิ่มขึ้นเที่ยวบินที่ผ่านมหา สมุทรแอตแลนติกเหนือมี CAT ถี่ขึ้นถึงร้อยละ 55 เป็นสิ่งที่ไม่สามารถตรวจด้วยเรดาร์และเป็นเรื่องอันตรายมาก เพราะเครื่องบิน จะโยนตัวแรง โดยไม่ทราบล่วงหน้าและไม่มีเครื่องมือตรวจวัด

หากแก้ไขภาวะโลกร้อนไม่ได้ ใน ค.ศ.2050 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ที่เราเรียกว่า ‘สภาวะโลกเดือด’ สภาวะนี้จะทำให้เครื่องบินตกหลุมอากาศอย่างรุนแรงมากขึ้นถึงร้อยละ 40 แม้จะบินผ่านบรรยากาศที่ปลอดโปร่งก็ตาม

ข้อมูลพยากรณ์ด้าน 1.หลุมอากาศขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ และ 2.เมฆพายุฝนฟ้าคะนองของกรมอุตุนิยมวิทยาสหราชอาณาจักร พบว่าหลังจากวิเคราะห์เส้นทางการบินทั้งหมด 1.5 แสนเส้นทาง ในเดือนธันวาคม 2023 พบเส้นทางการบินที่ตกหลุมอากาศมากที่สุดซึ่งมีความรุนแรงเฉลี่ย 17.568 edr–16.016 edr มากถึง 10 แห่ง ‘edr’ คือการวัดความรุนแรงของหลุมอากาศ ณ จุดที่กำหนด โดย 6 ใน 10 ของเส้นทางที่ตกหลุมอากาศมากที่สุดเป็นเส้นทางการบินภายในของญี่ปุ่นและจีน

โลกเจอผลกระทบสภาพอากาศที่แปรปรวนรุนแรงในหลายรูปแบบ ตั้งแต่คลื่นความร้อนที่ทำให้สายเคเบิลของระบบสื่อสารหลอมละลาย พายุเฮอริเคนที่นับวันทวีความรุนแรงขึ้น สภาพอากาศที่แปรปรวน ฯลฯ ผู้อ่านท่านครับ ต่อไปคนจะแขยงแขงขนการเดินทางโดยเครื่องบิน ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา คนทั่วโลกอ่านข่าวสายการบินสิงคโปร์ตกหลุมอากาศและมีผู้โดยสารเสียชีวิต 2 คน ตามด้วยสายการบินกาตาร์ ส่วนที่ตกหลุมอากาศเล็กๆ น้อยๆ ไม่มีคนบาดเจ็บหรือเสียชีวิตก็ไม่ได้มีการนำมาเขียนถึง

...

‘โลกร้อน’ เป็นประเด็นใหญ่ของทุกประเทศ น้ำฝนที่เคยดื่มได้เดี๋ยวนี้ก็ดื่มไม่ได้เหมือนเดิม น้ำแข็งขั้วโลกละลาย น้ำในมหาสมุทรที่สูงขึ้นกัดเซาะกระทบต่อประมงชายฝั่ง หลายประเทศเสียแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ โรคติดต่อที่เคยถูกกำจัดจนหมดสิ้นไปแล้ว ปัจจุบันก็เกิดขึ้นมาใหม่ เมืองที่ตั้งอยู่ใกล้กับทะเลเสี่ยงต่อน้ำท่วม ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง สัตว์หลายประเภทสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ น้ำปนเปื้อนมีมากขึ้นจนกระทบชีวิตของสัตว์น้ำ นอกจากนั้นยังทำให้เชื้อโรคแพร่ระบาด

มนุษย์จำนวนไม่น้อยจะกลัวการเดินทางโดยเครื่องบิน การจะกลับไปใช้รถหรือรถไฟก็ช้า จะใช้เรือยิ่งช้าไปใหญ่ การป้องกันไม่ให้มีหลุมอากาศเป็นไปได้ยาก เพราะดูเหมือนการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเป็นไปในทางเลวร้ายรุนแรงขึ้น ต่อไปในอนาคต ใครจะทำอะไรจะต้องใช้คาร์บอนเครดิต แม้แต่เที่ยวบิน ซึ่งตอนนี้เป็นเพียงภาคสมัครใจ ทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ อีกไม่นานก็จะเป็นเรื่องของภาคบังคับ ประเทศใดไม่เตรียมการเรื่องนี้ไว้ล่วงหน้าก็จะเสียโอกาสมหาศาล

ดร.สนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทยโพสต์ข้อความว่า เครื่องบินอาจตกหลุมอากาศบ่อยขึ้นแม้บินอยู่ในท้องฟ้าที่ปลอดโปร่ง ยิ่งสูงจากระดับผิวโลกขึ้นไปเกือบ 20 กิโลเมตร อุณหภูมิบรรยากาศยิ่งร้อนขึ้น ทำให้ลมระดับบนที่ความสูง 7.0-16 กิโลเมตรจากผิวโลก (ที่เราเรียกว่า Jet stream หรือลมกรด มีความเร็วเฉลี่ย 200-400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเคลื่อนที่จากซีกโลกตะวันตกไปตะวันออก) มีความเร็วลดลงในบางช่วง ทำให้ความหนาแน่นของมวลอากาศบริเวณนั้นลดลงและเครื่องบินที่บินผ่านตกหลุมอากาศ

อันตรายเพิ่มขึ้นจากการบินจะทำให้มนุษย์เดินทางน้อยลง และกระทบต่อวิถีชีวิตเดิมของมนุษย์ และวิถีใหม่นี่ละครับ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งการเมือง ข่าวการตกหลุมอากาศหรือข่าวเครื่องบินตกทำให้คนจะมีชีวิตอยู่กับที่มาก กว่าเดินทาง สมัยนี้มีอินเตอร์เน็ตที่สื่อสารว่องไว แม้แต่การท่องเที่ยวก็สามารถนั่งอยู่กับบ้านแล้วเห็นภาพเคลื่อนไหวได้ทั้งโลกเสมือนไปอยู่ในสถานที่จริง การบริโภคสินค้าก็จะสั่งกันทางออนไลน์ อยู่เมืองไทยก็สามารถสั่งของจากยุโรปมาใช้ได้ ไม่ต้องบินไปซื้อเอง

นักอนาคตวิทยาผู้ทำนายทายเรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่าลืมเอาเรื่องการตกหลุมอากาศของเครื่องบินไปประกอบการวิเคราะห์ด้วยนะครับ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com

คลิกอ่านคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” เพิ่มเติม