ถามว่าทำไมสุขภาพและความยั่งยืนของชีวิตสัตว์ในอวกาศจึงเป็นประเด็นสำคัญของการวิจัย นั่นก็เพราะหากมนุษย์ต้องเดินทางในภารกิจอวกาศระยะยาว เช่น ดาวอังคาร การทำความเข้าใจผลกระทบทางชีวภาพของการเดินทางในอวกาศถือเป็นสิ่งสำคัญ

ล่าสุดมีรายงานจาก 3 นักบินอวกาศจีนคือ เย่ กวางฟู่, หลี่ กง และหลี่ กว่างซู ที่ปฏิบัติงานบนสถานีอวกาศเทียนกงว่า “ปลาม้าลาย 4 ตัว” ที่ถูกนำขึ้นไปพร้อมกับยานเสินโจว-18 เมื่อ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา “ยังมีชีวิตอยู่” ทว่าที่น่าสนใจคือพวกมัน “แสดงพฤติกรรมสับสน” บางประการ เช่น การว่ายแบบกลับหัว ถอยหลัง และเคลื่อนที่เป็นวงกลม บ่งชี้ว่าสภาวะไร้น้ำหนักกำลังส่งผลต่อการรับรู้เชิงพื้นที่ของปลา ซึ่งนักบินอวกาศจีนได้ให้อาหารและสุ่มตรวจตัวอย่างน้ำเป็นระยะๆ โดยกล้องบนสถานีอวกาศช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ภาคพื้นดินสามารถเฝ้าดูการเลี้ยงดูปลาม้าลายทั้ง 4 ตัวได้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากการวิจัยเลี้ยงปลาทั้ง 4 ตัวนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างระบบนิเวศที่ยั่งยืนด้วยตัวเองในอวกาศ และศึกษาผลกระทบของทั้งสภาวะไร้น้ำหนัก รวมถึงการแผ่รังสีที่มีผลต่อการพัฒนาและการเจริญเติบโตของสัตว์มีกระดูกสันหลังในสภาวะไร้น้ำหนัก

การเลือกปลาม้าลายถูกระบุว่ามีข้อดีหลายประการ เช่น ปลามีวงจรการสืบพันธุ์และการพัฒนาที่สั้น ไข่ที่มีลักษณะโปร่งใส ซึ่งจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาการเจริญเติบโตของพวกมันได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ องค์ประกอบทางพันธุกรรมปลาม้าลายยังมีความคล้ายคลึงกับมนุษย์ เชื่อว่าอาจให้ข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของมนุษย์ได้นั่นเอง

ทว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ปลาได้เดินทางสู่อวกาศ องค์การนาซา สหรัฐอเมริกา เคยส่งปลามัมมิช็อกไปกับภารกิจสกายแล็บ 3 สู่สถานีอวกาศสกายแล็บในปี 2516 และอีกครั้งในปี 2518 กับภารกิจอพอลโล-โซยุซ ขณะที่สหภาพโซเวียตก็ส่งปลาม้าลายไปยังสถานีอวกาศซัลยูต 5 ในปี 2519 แน่นอนว่ายังมีปลาอีกมากมายได้มีโอกาสขึ้นสู่วงโคจรบนกระสวยอวกาศในช่วงทศวรรษที่ 1990

ที่น่าสนใจคือในปี 2555 มี โครงการวิจัยของญี่ปุ่น ได้นำ ปลาเมดากะ และ ปลาม้าลาย ไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ เพื่อการศึกษาถึงแหล่งอาศัยทางน้ำที่คล้ายคลึงกัน ผลวิจัยพบว่าความหนาแน่นในกระดูกปลาลดลงภายในเวลาเพียง 10 วัน ซึ่งนักบินอวกาศมนุษย์ก็ประสบกับผลที่คล้ายกันในวงโคจรโลก แม้จะไม่ใช่ในช่วงเวลาที่รวดเร็วขนาดนั้น แต่ผลกระทบเหล่านี้ดูจะบรรเทาลงได้บ้างหากเคร่งในการออกกำลังกาย.

...

ภัค เศารยะ

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม