ซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลของเนื้อเยื่ออ่อนของไดโนเสาร์นั้นหาได้ยาก แต่การค้นพบฟอสซิลผิวหนังของไดโนเสาร์ที่เกือบสมบูรณ์อายุราว 130 ล้านปีก่อนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน สร้างความตื่นเต้นอย่างมากในชุมชนบรรพชีวินวิทยา ฟอสซิลนี้เป็นของไดโนเสาร์มีขนชื่อว่า “ซิตอักโอซอรัส” (Psittacosaurus) เป็นชนิดกินพืช มีขนาดเท่าสุนัข ปากคล้ายนกแก้ว เป็นของสะสมของนักสะสมส่วนตัวที่บริจาคให้กับมหาวิทยาลัยหนานจิง มณฑลเจียงซู ของจีนในปี 2564
ฟอสซิลของซิตอักโอซอรัสยาวประมาณ 66 เซ็นติเมตร ถูกระบุว่าเสียชีวิตเมื่ออายุได้ 3 ขวบ ที่น่าสนใจคือเมื่อทีมวิจัยที่นำนักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยคอลเลจ คอร์ก ในไอร์แลนด์ ใช้รังสีอัลตราไวโอเลตตรวจสอบก็พบว่าผิวของมันเป็นเกล็ดกลมๆ กว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร ปกคลุมหน้าอกและหน้าท้อง จัดว่าซากถูกอนุรักษ์ไว้อย่างดีลงไปถึงโครงสร้างเซลล์ เชื่อว่าจะให้ข้อมูลเชิงลึกใหม่เกี่ยวกับวิวัฒนาการของผิวหนังในไดโนเสาร์มีขน ทีมพบว่าฟอสซิลผิวหนังของซิตอักโอซอรัสมีการพัฒนาแบบแบ่งเขต โดยมีสิ่งที่คล้ายขนเรียบๆ อยู่บนหาง ขณะส่วนอื่นๆของร่างปกคลุมไปด้วยผิวหนังที่เป็นเกล็ด นั่นชี้ว่าซิตอักโอซอรัสหรือไดโนเสาร์มีขนในยุคแรกๆ มีผิวหนังคล้ายสัตว์เลื้อยคลาน โดยมีเกล็ดตรงบริเวณที่ไม่มีขน แต่มีผิวหนังนุ่มเหมือนนกตรงที่มีขน
...
การมีอยู่ของผิวหนัง 2 ประเภทบนฟอสซิลซิตอักโอซอรัส บ่งบอกว่าไดโนเสาร์อาจเก็บผิวหนังของสัตว์เลื้อยคลานไว้เป็นเครื่องป้องกัน ขณะการมีขนในบางพื้นที่ของร่างกายในช่วงแรกๆ ก็เหมือนเป็นการทดลองไปสู่วิวัฒนาการของการมีขนนก แต่นักวิจัยยังไม่แน่ใจรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเชิงวิวัฒนาการจากการมีผิวหนังเป็นเกล็ดไปเป็นขนนก.