นักวิจัยเผยผลการตรวจสอบเนื้อเยื่ออัณฑะผู้ชาย และของสุนัขเลี้ยง พบไมโครพลาสติกถึง 100% ของตัวอย่าง เชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกับกรณีที่จำนวนอสุจิที่ลดลงในร่างกายผู้ชายทั่วโลกเป็นเวลาต่อเนื่องในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา
เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2567 เว็บไซต์ข่าว The Guardian รายงานอ้างคำเปิดเผยของศาสตราจารย์เสี่ยวจง หยู จากมหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโก ในสหรัฐฯ ที่ระบุว่า พบไมโครพลาสติกปนเปื้อนในเนื้อเยื่อลูกอัณฑะของมนุษย์ โดยพบถึง 100% ของตัวอย่างที่นำมาตรวจสอบ และมีความเป็นไปได้ที่มันอาจเชื่อมโยงกับจำนวนอสุจิที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในผู้ชายทั่วโลกในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา
ศาสตราจารย์หยูกล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจสอบตัวอย่างเนื้อเยื่ออัณฑะของมนุษย์ จำนวน 23 ชิ้น และตัวอย่างเนื้อเยื่ออัณฑะจากสุนัขเลี้ยง 47 ชิ้น ผลออกมาว่า พบมลพิษไมโครพลาสติกในทุกตัวอย่าง ศาสตราจารย์หยูกล่าวว่า ในตอนแรกนักวิจัยเกิดความสงสัยว่าไมโครพลาสติกสามารถแทรกซึมเข้าไปในระบบสืบพันธุ์ได้หรือไม่ และเมื่อได้รับผลการตรวจสุนัขครั้งแรก ก็ต่างพากันรู้สึกประหลาดใจ แต่ยิ่งประหลาดใจมากยิ่งขึ้น เมื่อได้รับผลการวิจัยจากตัวอย่างเนื้อเยื่อของมนุษย์
โดยผลการศึกษานี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Toxicological Sciences เกี่ยวข้องกับการละลายตัวอย่างเนื้อเยื่อ และวิเคราะห์พลาสติกที่เหลืออยู่ อย่างไรก็ตาม ในการตรวจสอบว่าผลการทดสอบนี้สัมพันธ์กับจำนวนอสุจิที่ลดลงหรือไม่สำหรับลูกอัณฑะของมนุษย์ยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากนักวิจัยต้องใช้เนื้อเยื่อของมนุษย์อายุระหว่าง 16-88 ปีที่เสียชีวิตแล้ว และถูกเก็บรักษาไว้ ทำให้ไม่สามารถวัดจำนวนอสุจิได้
อย่างไรก็ตาม สามารถประเมินจำนวนอสุจิในอัณฑะของสุนัขได้และพบว่ามันลดลงในกลุ่มตัวอย่างที่มีการปนเปื้อนด้วยไมโครพลาสติกสูงกว่า โดยการวิจัยนี้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์การปนเปื้อนไมโครพลาสติกเข้าสู่ระบบสืบพันธุ์และปริมาณอสุจิที่ลดลง แต่จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์ให้แน่ชัดว่า ไมโครพลาสติกทำให้จำนวนอสุจิลดลง
...
นักวิจัยกล่าวว่า ที่ผ่านมาจำนวนอสุจิในผู้ชายลดลงมานานหลายทศวรรษ โดยเป็นผลมาจากมลภาวะทางเคมี เช่น ยาฆ่าแมลง และเมื่อเร็วๆ นี้ ไมโครพลาสติกยังถูกค้นพบในเลือดของมนุษย์ รก และน้ำนมแม่ ซึ่งบ่งชี้ว่าร่างกายของมนุษย์มีการปนเปื้อนอย่างกว้างขวาง ขณะที่ผลกระทบต่อสุขภาพยังไม่ทราบแน่ชัด แต่จากการทดลองในห้องปฏิบัติการพบว่า ไมโครพลาสติกก่อให้เกิดความเสียหายต่อเซลล์ของมนุษย์
โดยอนุภาคอาจฝังอยู่ในเนื้อเยื่อและทำให้เกิดการอักเสบได้ เช่นเดียวกับอนุภาคมลพิษทางอากาศ หรือสารเคมีในพลาสติกก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้ ซึ่งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แพทย์ออกมาเตือนถึงผลกระทบที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต หลังจากพบว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมากต่อโรคหลอดเลือดสมอง หัวใจวาย และการเสียชีวิตก่อนหน้านี้ในผู้ที่มีหลอดเลือดปนเปื้อนด้วยพลาสติกขนาดเล็กจิ๋ว
ทั้งนี้ ขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลถูกทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อม และไมโครพลาสติกได้ก่อให้เกิดมลพิษไปทั่วโลก ตั้งแต่ยอดเขาเอเวอเรสต์ ไปจนถึงมหาสมุทรที่ลึกที่สุด และเป็นที่ทราบกันว่าผู้คนบริโภคอนุภาคเล็กๆ ผ่านทางอาหารและน้ำ ตลอดจนหายใจเข้าไปด้วย.