เมื่อเร็ว ๆ นี้ แว่วข่าวว่าการปล่อย “ลูกโป่ง” กลางแจ้งเพื่อจุดประสงค์ เช่น เฉลิมฉลองชีวิตของใครสักคน ฉลองงานแต่งงาน หรือต้องการเปิดเผยเพศของทารก ฯลฯ กำลังจะกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา โดยคาดว่าคำสั่งห้ามการปล่อยลูกโป่งโดยเจตนานอกอาคาร ในรัฐฟลอริดา จะลงนามโดย นายรอน ดีซานติส ผู้ว่าการรัฐ อาจจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 ก.ค.นี้

ที่ต้องห้าม ก็เพราะลูกโป่งที่ทำจากพลาสติกเมื่อถูกปล่อยลอยไปบนท้องฟ้า มักจะจบลงในมหาสมุทรและแหล่งน้ำ แล้วบอลลูนพวกนี้มักทำจากพลาสติก จึงมีแนวโน้มที่จะฆ่าชีวิตนกทะเลมากกว่าเศษพลาสติกชนิดอื่นๆถึง 32 เท่า เนื่องจากลูกโป่งมีส่วนทำให้เกิดมลพิษไมโครพลาสติก เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดรวมถึงมนุษย์ แต่การสั่งห้ามไม่ได้จำกัดการขายลูกโป่ง ผู้ผลิตยังผลิตได้ ผู้บริโภคยังซื้อหาได้ แต่ให้ใช้ในบ้านเรือนหรือเป็นของตกแต่งกลางแจ้ง แต่ต้องรักษาความปลอดภัยอย่างเหมาะสม ส่วนลูกโป่งโดยหน่วยงานของรัฐหรือเพื่อวัตถุประสงค์ทางวิทยาศาสตร์ที่รัฐบาลอนุมัติจะได้รับการยกเว้นจากกฎหมายใหม่ บอลลูนอากาศร้อนที่เก็บคืนได้หลังการปล่อย หรือบอลลูนที่เด็กอายุ 6 ปีหรือต่ำกว่าปล่อยก็จะได้รับการยกเว้นเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาขยะพลาสติกทั่วโลกกลายเป็นคำถามว่าจะแก้กันอย่างไร ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมาก็มีบรรดานักวิทยาศาสตร์นักวิจัย พยายามเร่งหาวิธีแก้ ท่ามกลางสถานการณ์ขยะเพิ่มพูนขึ้นทุกวัน แต่เมื่อกำจัดขยะพลาสติกไม่ได้ ก็มีคนคิดว่าลองแปรให้เป็นประโยชน์ดู เมื่อไม่นานนี้มีหลายเสียงถามว่า จะเป็นอย่างไรถ้าสามารถช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกทั่วโลก เช่น กระบวนการที่ทำให้น้ำมันดีเซลออกมาจากขยะพลาสติก ซึ่งทีม นักวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการแห่งชาติเอมส์ ของกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ได้เผยว่าได้ดำเนินการเรื่องนี้อยู่

...

โดยเผยว่าได้พัฒนากระบวนการขั้นตอนเดียวที่เปลี่ยนขยะพลาสติกให้เป็นน้ำมันดีเซลโดยตรง กระบวนการที่พัฒนานั้นขึ้นอยู่กับการเร่งปฏิกิริยา โดยเกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมีบางชนิด เพื่อช่วยแยกโพลีเมอร์ที่ก่อตัวเป็นขยะพลาสติก กระบวนการผลิตดีเซลแบบนี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีประสิทธิภาพมากกว่าการผลิตดีเซลจากน้ำมันดิบ ได้น้ำมันดีเซลที่เผาไหม้สะอาดกว่าเพราะไร้กำมะถัน เนื่องจากเป็นเรื่องยากที่จะกำจัดกำมะถันออกจากน้ำมันดิบ และนั่นคือส่วนที่มีราคาแพงของกระบวนการกลั่น

ทีมคาดว่าดีเซลที่สะอาดขึ้นนี้จะช่วยอุตสาหกรรมการขนส่งด้วยการปรับปรุงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเป็นทางเลือกทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล แถมพลาสติกยังถูกส่งไปสถานที่ฝังกลบและเข้าสู่สิ่งแวดล้อมน้อยลง.


ภัค เศารยะ

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม