สิ่งที่หลายประเทศกำลังเผชิญอย่างต่อเนื่อง คือ “การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ” โดยปัจจุบันมีชาติที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไปแล้ว เช่น ญี่ปุ่นและไทย เนื่องจากผู้คนภายในประเทศมีอายุยืนขึ้น ประกอบกับปัญหาอัตราการเกิดที่ต่ำลง ทำให้จำนวนของประชากรมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ อย่างการมีผู้สูงอายุมากกว่าคนหนุ่มสาว

เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ที่กำลังประสบปัญหาเดียวกัน โดยเมื่อปี พ.ศ.2566 ประชากรเกาหลีใต้ที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปมีมากถึง 9,730,000 คน หรือคิดเป็น 19% ของประชากรเกาหลีใต้ทั้งหมดที่มีอยู่เกือบ 52 ล้านคน ยังมีการคาดการณ์โดยสำนักงานสถิติของเกาหลีใต้ว่า ในปี พ.ศ.2587 เกาหลีใต้จะกลายเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุ วัยระหว่าง 65 ปีขึ้นไปมากที่สุดในโลก อีกทั้งบริษัทส่วนใหญ่มีการกำหนดอายุเกษียณการทำงานไว้ที่ 60 ปี ซึ่งสร้างความกังวลแก่ผู้สูงอายุในเรื่องรายได้ที่หดหายไป ภาวะทางด้านจิตใจที่เกิดขึ้นหลังเกษียณ ยังส่งผลกระทบต่อจำนวนประชากรแรงงานในอนาคตเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าผู้สูงอายุเหล่านี้จะไม่สามารถหวนกลับสู่โลกแห่งการทำงานได้ เนื่องจากเกาหลีใต้ยังคงมีการจ้างงานผู้สูงอายุอยู่จำนวนไม่น้อย เพียงแต่อาจเป็นงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะสูง และค่าตอบแทนที่ไม่ได้หวือหวามากนัก รายงานจากสำนักข่าวแชแนล นิวส์ เอเชียของสิงคโปร์ระบุว่า 1 ใน 4 ของผู้สูงอายุชาวเกาหลีใต้วัย 70 ปีขึ้นไปยังคงได้รับการจ้างงาน โดยมีคนถึง 40% ที่เป็นแรงงานทักษะต่ำ เช่น งานจัดส่งพัสดุ งานเกษตรกรรม รวมถึงในเกาหลีใต้ยังมีหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือที่ช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่ผู้สูงอายุโดยเฉพาะ เนื่องจากผู้สูงอายุบางคนยังมีความรู้สึกอยากทำงาน หรือออกไปเข้าสังคมเพื่อเติมเต็มความต้องการของชีวิตที่อาจพลาดไปเมื่อยังไม่เข้าสู่วัยเกษียณ

...

ขณะเดียวกัน รัฐบาลเกาหลีใต้ก็มีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยประธานาธิบดีเกาหลีใต้ “ยุน ซอกยอล” ประกาศเตรียมจัดตั้งหน่วยงานราชการเพื่อรับมือกับสังคมผู้สูงอายุและอัตราการเกิดต่ำโดยเฉพาะ ทั้งในมิติของสวัสดิการ การศึกษาและแรงงาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต

กระนั้น จอง แจฮุน ศาสตราจารย์ด้านสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยสตรีโซลชี้ว่า แม้รัฐบาลจะมีการขยายการจ่ายเงินบำนาญและมุ่งสร้างงานให้แก่ผู้สูงอายุมากขึ้น แต่นโยบายของรัฐบาลควรมุ่งเน้นการสร้างงานที่เป็นความต้องการของตลาด ส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ รวมถึงปรับอายุเกษียณการทำงานให้มีความยืดหยุ่น เพื่อขยายโอกาสในการทำงานของผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น.

ญาทิตา เอราวรรณ

คลิกอ่านคอลัมน์ "หน้าต่างโลก" เพิ่มเติม