- อายุขัยเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น ทำให้บรรดาผู้สูงอายุ หรือคนวัยเกษียณ เกิดความกังวลว่า การที่ต้องใช้ชีวิตหลังเกษียณโดยไม่มีรายได้ จะทำให้พวกเขาต้องอยู่อย่างยากลำบาก ผลักดันให้คนกลุ่มนี้เริ่มมองหางานในตลาดแรงงานเพิ่มขึ้น
- ผลสำรวจยังพบด้วยว่าจำนวนประชากรแรงงานสูงวัยเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 60 จากปี 2013 เมื่อพิจารณาจากอัตราปัจจุบัน คาดว่าจำนวนคนงานสูงวัยจะเกิน 10 ล้านคน ในปี 2024
- อย่างไรก็ตาม แรงงานสูงวัยส่วนใหญ่มักจะได้งานที่แทบจะไม่ต้องอาศัยประสบการณ์ หรือการฝึกอบรมใดๆ อย่างเช่นงานที่ต้องใช้แรงงาน ซึ่งค่าแรงไม่แพงมาก โดยปัจจุบันผู้สูงอายุชาวเกาหลีใต้ 4 ใน 10 มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ต่ำกว่าเส้นความยากจน
เกาหลีใต้ นับเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นรวดเร็วที่สุดในโลก นอกจากนี้ยังมีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำที่สุดในโลกอีกด้วย โดยในปี 2022 จำนวนเฉลี่ยของผู้หญิงเกาหลีใต้ที่ให้กำเนิดบุตร แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.78 เท่านั้น สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่กำลังสร้างปัญหาในอนาคตอันใกล้
ประธานาธิบดี ยุน ซอก ยอล ของเกาหลีใต้ เพิ่งให้ความเห็นในระหว่างการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อไม่นานมานี้ว่า เขาจะเร่งสร้างงานให้แก่คนวัยเกษียณ และจะพิจารณาปรับขึ้นเงินบำนาญด้วย สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลรับทราบปัญหาและให้ความสำคัญแก่เรื่องนี้
...
โดยปัจจุบันชาวเกาหลีใต้จะต้องเกษียณอายุงานในวัย 60 ปี และหากพวกเขาต้องการกลับเข้าทำงานอีกครั้ง ก็มักจะถูกเลือกให้ทำงานที่ต้องใช้แรง หรือเป็นงานต่ำต้อยที่คนหนุ่มสาวไม่ทำกัน
คุณตา โช ซอง วอย วัย 71 ปี เป็นหนึ่งในผู้สูงอายุที่เข้ามาสู่ตลาดแรงงานหลังเกษียณ โดยเขาทำหน้าที่เป็นพนักงานส่งของเดินเท้า โดยเขาใช้บริการรถไฟใต้ดินเป็นช่องทางหลักในการเดินทางไปส่งของ และดูแผนที่ผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือเพื่อไปยังจุดหมายปลายทาง เนื่องจากผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปสามารถใช้บริการได้ฟรีโดยไม่ต้องเสียค่าบริการ ซึ่งนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่บริษัทต่างๆ นิยมจ้างผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรงมาทำหน้าที่นี้ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งหลังจากที่คุณตาโชส่งของเสร็จแล้ว เขาก็จะเดินทางกลับไปออฟฟิศเพื่อนำส่งของชิ้นต่อไป ซึ่งถ้าหากเขาทำงานเต็มวัน คุณตาโชจะได้รับค่าจ้างราว 40,000 วอน หรือราว 1,000 บาท แต่หากทำงานไม่เต็มวัน ก็จะได้ค่าจ้างราว 20,000-30,000 วอน หรือราว 500-800 บาท โดยคุณตาโชเคยเป็นอดีตวิศวกรโรงงานมาก่อน แต่การกลับเข้ามาทำงานหลังเกษียณของเขาไม่จำเป็นต้องนำประสบการณ์ที่เขาเคยทำงานมาใช้แม้แต่น้อย
ผู้สูงอายุราว 1 ใน 4 มีงานทำ
ในปัจจุบันนี้มี 1 ใน 4 ของผู้สูงอายุที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป ที่ถูกจ้างงานในตลาดแรงงานอยู่ แต่มากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์เป็นงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะใดๆ
เหตุผลอย่างหนึ่งที่ผู้สูงอายุต้องกลับเข้ามาทำงานอีกครั้ง ก็เนื่องจากเงินบำนาญในแต่ละเดือนมีไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย อย่างคุณตาโชก็ได้รับเงินบำนาญราว 4,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น นอกจากนี้เหตุผลที่พวกเขากลับมาทำงาน ก็เพื่อต้องการเติมเต็ม และสร้างคุณค่าการมีอยู่ให้แก่ตัวเอง เพราะไม่อยากทิ้งเวลาแบบสูญเปล่าไปวันๆ เพราะนอกจากจะมีงานอดิเรกและไปท่องเที่ยวเป็นบางครั้งแล้ว พวกเขาก็ไม่มีอะไรให้ทำอีกจนรู้สึกไร้ค่า และต้องการกลับมามีสังคมอีกครั้ง
กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ต่างมองหางาน
ปัจจุบันผู้สูงวัยอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปของเกาหลีใต้ คิดเป็น 19 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศที่มีอยู่เกือบ 52 ล้านคนแล้ว และภายในปี 2050 ตัวเลขนี้อาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 44 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งอัตราการเกิดต่ำเป็นประวัติการณ์ตามที่ได้กล่าวมาด้วย
...
การที่อายุขัยเฉลี่ยของประชากรทั่วไปเพิ่มสูงขึ้น ยิ่งสร้างความกังวลใจให้แก่ผู้สูงวัย ที่พวกเขาจะยังคงต้องใช้ชีวิตอยู่ต่อไปอีกนาน โดยที่ไม่มีช่องทางหารายได้เพิ่ม
ศูนย์สนับสนุนการจ้างงานผู้อาวุโสของกรุงโซล ได้รับความสนใจมากขึ้นในระยะนี้ โดยมีผู้สูงอายุจำนวนมากแวะเวียนเข้าไปสอบถามหางานทำ โดยคำถามส่วนใหญ่ก็คือ พวกเขายังสามารถทำงานได้มั้ย จะมีที่ไหนที่จ้างงานคนแก่บ้างรึเปล่า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพวกเขายังขาดข้อมูล ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงโอกาสต่างๆ ได้ ซึ่งทางศูนย์ฯ จะทำหน้าที่ในการค้นหาบริษัทที่ต้องการจ้างผู้สูงอายุ รวมทั้งยังช่วยจัดอบรมเตรียมความพร้อมหากจะต้องมีการเปลี่ยนงานด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้ให้คำปรึกษาพบว่าผู้สูงอายุที่มองหางานจำนวนมากต้องการความมั่นใจว่าพวกเขายังคงช่วยเหลือสังคมได้ และสามารถสร้างความแตกต่างในที่ทำงานได้
การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การจ้างงานผู้สูงอายุ
ศาสตราจารย์ จอง แจ ฮุน แห่งมหาวิทยาลัยสตรีโซล ระบุว่า สถานการณ์ในปัจจุบันถือว่าภาครัฐให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น จะเห็นได้จากการค่อยๆ ขยายความคุ้มครองเงินบำนาญ และเน้นการสร้างงานให้ผู้สูงอายุด้วยการให้งบประมาณจากภาครัฐมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แทนที่จะจัดให้มีงานภาครัฐเพื่อสวัสดิการสังคมรูปแบบหนึ่งซึ่งอาจดูเหมือนเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพ นโยบายในอนาคตควรมุ่งเน้นไปที่การสร้างงานที่มุ่งเน้นตลาดมากขึ้น อย่างการสนับสนุนสตาร์ทอัพ หรือส่งเสริมการจ้างงานตนเอง และการเป็นผู้ประกอบการ นอกจากนี้อาจจำเป็นจะต้องยืดหยุ่นวัยเกษียณให้มากกว่า 60 ปี
...
โดยในขณะนี้พบว่า ผู้สูงอายุได้เข้ามาสู่ตลาดแรงงานมากกว่าครึ่งของจำนวนงานใหม่ๆ ในเกาหลีใต้แล้ว ขณะที่แรงงานวัย 20 ปี หรือน้อยกว่านั้น ได้เข้ามาทำงานในตำแหน่งใหม่ๆ เพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2022 ดังนั้นในขณะที่สหภาพแรงงานกำลังเดินหน้ากดดันให้เพิ่มอายุเกษียณ ก็มีความกังวลว่านี่อาจจะเป็นการเปิดฉากการแข่งขันหางานระหว่างผู้อาวุโส และเยาวชนที่ดิ้นรนหางานทำก็เป็นได้
จากการสำรวจของ Statistics Korea พบว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของประชากรชาวเกาหลีใต้ในช่วงอายุระหว่าง 55-79 ปี หรือกว่า 9.3 ล้านคน ที่ยังคงทำงานอยู่ในเวลานี้ ซึ่งนับเป็นจำนวนของแรงงานสูงวัยที่มากที่สุดนับตั้งแต่มีการรวบรวมสถิติครั้งแรกในปี 2005 โดยจำนวนของแรงงานผู้สูงอายุได้เติบโตเพิ่มขึ้นราว 60 เปอร์เซ็นต์ จากปี 2013 และหากอัตราการเติบโตยังเป็นเช่นนี้ คาดว่าจำนวนของผู้สูงอายุที่อยู่ในตลาดแรงงานน่าจะทะลุ 10 ล้านคน ภายในปี 2024
นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบด้วยว่า จำนวนของหญิงสูงวัยที่ต้องการกลับไปทำงานมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากในปี 2011 มีหญิงสูงวัยราว 47.8 เปอร์เซ็นต์ที่ต้องการกลับไปทำงาน ขณะที่ในปี 2021 หรืออีก 10 ปีถัดมา ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 60.3 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ชายสูงวัยที่ต้องการกลับเข้าทำงานอยู่ที่ 74 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปี 2011 และเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 77.3 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2021 ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่มากเหมือนกับผู้หญิง.
...
ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล
ที่มา : สเตรทไทม์, แชนแนลนิวส์เอเชีย
คลิปอ่านข่าวเกี่ยวกับ เกาหลีใต้