ทั่วโลกรับรู้กันดีว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ส่งผลกระทบเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์และทุกชีวิตบนโลกใบนี้อย่างถ้วนทั่ว ทั้งอากาศแปรปรวนแบบ “สุดขั้ว” ร้อนจัดแล้งหนัก ไฟป่าลุกลามอย่างรวดเร็ว รวมถึงพายุฝนฟ้าถล่มรุนแรงบ่อยครั้ง เป็นความท้าทายยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ กระนั้นยังดูเหมือนว่าผู้คนจำนวนมากกลับไม่ได้ให้ความสำคัญ บางส่วนยังเชื่อว่าอากาศเปลี่ยนแปลงไม่มีจริง

ทำให้เกิดคำถามสำคัญว่า ควรจะใช้วิธีใดโน้มน้าวให้ผู้คนเข้าใจว่านี่คือปัญหาสำคัญเร่งด่วน ต้องลงมือแก้ไขอย่างจริงจัง ตั้งแต่วันนี้ เดี๋ยวนี้ do-or-die!

ประเด็นนี้ “ฮิโรโตะ นากาอิ” นักวิทยาศาสตร์ธรณีสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยริชโช ในกรุงโตเกียว ของญี่ปุ่น ตั้งเป้าใช้ “ดนตรี” เป็นเครื่องมือสื่อสารทรงอิทธิพล เน้นย้ำวิกฤติดังกล่าว ด้วยการใช้ข้อมูลสถิติด้านสภาพอากาศโลกร้อนจากอาร์กติกในขั้วโลกเหนือ และแอนตาร์กติกในขั้วโลกใต้ ตลอดเวลา 30 ปีที่ผ่านมา นำมาเรียงร้อยเป็นบทเพลงความยาว 6 นาที ในชื่อว่า “String Quartet No.1 Polar Energy Budget” นำเสนอผ่านเครื่องดนตรีคลาสสิกกลุ่มเครื่องสาย อย่าง ไวโอลิน วิโอลา และเชลโล ถ่ายทอดบทเพลงแสนเครียดและโศกเศร้า

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่การทำเพลงจากโลกร้อนครั้งแรก ก่อนหน้านี้นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมินเนโซตา “เดเนียล ครอว์ฟอร์ด” เคยแต่งเพลง ชื่อ “Planetary Bands, Warming World” จากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในซีกโลกเหนือตั้งแต่ปี 2423 ผ่านการบรรเลงโดยเครื่องสาย 4 ชิ้น เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นนำเสนออุณหภูมิในแต่ละโซน เช่น เชลโลแทนโซนเส้นศูนย์สูตร วิโอลาสำหรับเขตละติจูดกลาง และไวโอลินแทน อุณหภูมิในเขตละติจูดสูงและอาร์กติก

...

ในทางกลับผลงานเพลงของนากาอิผู้ชื่นชอบดนตรีเป็นพิเศษ ใช้ข้อมูลดาวเทียมในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาโดยไม่ได้เรียงตามลำดับเวลา แต่ว่านำมาจัดเรียงร้อยข้อมูลสภาพอากาศเสียใหม่เพื่อให้เข้ากับจังหวะและโน้ตเพลง ให้ได้เสียงดนตรีที่ลื่นไหล เป็นการผสมผสานสรรพเสียงที่แสนจะไม่รื่นรมย์ของวิกฤติธรรมชาติเข้ากับอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ เพื่อกระตุ้นเร้าให้เกิดการรับรู้และตอบสนองทางอารมณ์ หวังให้ผู้คนใส่ใจปัญหานี้ให้มากขึ้น

ผู้สนใจสามารถค้นหาชื่อเพลงและลองฟังได้ทางยูทูบตามอัธยาศัย.


อมรดา พงศ์อุทัย

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม