"ไบต์แดนซ์" และ "ติ๊กต่อก" ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เพื่อหวังบล็อกกฎหมายที่บังคับให้ติ๊กต่อก ต้องขายกิจการ เพื่อมิให้แอปฯ ถูกแบนในสหรัฐฯ

"ติ๊กต่อก" (TikTok) และ "ไบต์แดนซ์" (ByteDance) บริษัทแม่ในจีน ยื่นฟ้องต่อศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เพื่อพยายามขัดขวางกฎหมายที่ลงนามโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่สั่งให้บริษัทไบต์แดนซ์ ต้องขายกิจการแอปฯ ดังกล่าวภายในวันที่ 19 มกราคมปีหน้า ไม่เช่นนั้นแอปฯ ติ๊กต่อกจะไม่สามารถใช้ได้ในอเมริกาหลังพ้นเส้นตายดังกล่าว

ทั้งสองบริษัท ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอุทธรณ์สหรัฐฯ เขตดิสทริกต์ ออฟ โคลัมเบีย โดยโต้แย้งว่ากฎหมายดังกล่าวละเมิดรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ด้วยเหตุผลหลายประการ รวมถึงการฝ่าฝืนการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ครั้งที่ 1 โดยกฎหมายที่ลงนามโดยประธานาธิบดีไบเดน เมื่อวันที่ 24 เมษายน กำหนดให้ไบต์แดนซ์ บริษัทแม่ของติ๊กต่อก ต้องขายกิจการแอปฯ ภายในวันที่ 19 มกราคมปีหน้า

ทั้งสองบริษัทกล่าวในการยื่นฟ้องว่า "เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สภาคองเกรสได้ออกกฎหมายที่กำหนดให้แพลตฟอร์มแสดงความคิดเห็นถูกแบนอย่างถาวรทั่วประเทศ" 

คดีดังกล่าวระบุว่า การขายกิจการ "เป็นไปไม่ได้: ไม่ใช่ในเชิงพาณิชย์ ไม่ใช่ทางเทคโนโลยี หรือถูกกฎหมาย ... ไม่ต้องสงสัยว่า: พระราชบัญญัติ (กฎหมาย) จะบังคับให้ปิดติ๊กต่อก ภายในวันที่ 19 มกราคม 2568 และปิดปากชาวอเมริกัน 170 ล้านคนที่ใช้แพลตฟอร์มเพื่อสื่อสารในรูปแบบที่ไม่สามารถจำลองแบบที่อื่นได้"

ทำเนียบขาวกล่าวว่า ต้องการให้การเป็นเจ้าของแอปฯ ที่มีฐานในจีน สิ้นสุดลงด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ แต่ไม่ใช่การห้ามติ๊กต่อก ทำเนียบขาวและกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการฟ้องร้อง

...

คดีนี้ถือเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดของติ๊กต่อก ที่จะเดินหน้าป้องกันไม่ให้บริษัทถูกปิดตัวในสหรัฐฯ เนื่องจากบริษัทอย่าง "สแนป" (Snap) และ "เมตา" (Meta) ต่างกำลังหวังใช้ประโยชน์จากความไม่แน่นอนของติ๊กต่อก เพื่อแย่งชิงรายได้จากการโฆษณาจากคู่แข่ง

สมาชิกสภานิติบัญญัติของสหรัฐฯ แสดงความกังวลอย่างมากว่า จีนสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับชาวอเมริกันหรือสอดแนมด้วยแอปฯ นี้ได้ มาตรการดังกล่าวจึงผ่านความเห็นชอบอย่างท่วมท้นในสภาคองเกรส เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากกาเสนอลงมติ ด้านติ๊กต่อกปฏิเสธว่าบริษัทไม่เคยเปิดเผยข้อมูลผู้ใช้ในสหรัฐฯ โดยกล่าวหาสมาชิกสภานิติบัญญัติสหรัฐฯ ว่าคาดเดาไปเอง

ราจา กฤษณมูรธี ผู้แทนพรรคเดโมแครตระดับสูงในคณะกรรมการจีน ประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ กล่าวว่ากฎหมายดังกล่าวเป็น "วิธีเดียวที่จะจัดการกับภัยคุกคามความมั่นคงของชาติที่เกิดจากความเป็นเจ้าของแอปติ๊กต่อกของไบต์แดนซ์"

กฎหมายห้ามไม่ให้แอปสโตร์ของแอปเปิล และเพลย์ สโตร์ ของกูเกิล เสนอการดาวน์โหลดแอปฯ ติ๊กต่อก และห้ามผู้ให้บริการโฮสติ้งอินเทอร์เน็ต รองรับติ๊กต่อก เว้นแต่ไบต์แดนซ์ จะขายติ๊กต่อกภายในวันที่ 19 มกราคม

คำฟ้องดังกล่าวระบุว่า รัฐบาลจีนได้แสดงความชัดเจนว่าจะไม่อนุญาตให้มีการขายเครื่องมือแนะนำซึ่งเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จของ ติ๊กต่อกในสหรัฐฯ บริษัทต่างๆ ขอให้ศาลอุทธรณ์ ขัดขวางมิให้นายเมอร์ริค การ์แลนด์ อัยการสูงสุดของสหรัฐฯ บังคับใช้กฎหมายดังกล่าว 

ข้อมูลตามคำฟ้องระบุว่า หุ้น 58% ของไบต์แดนซ์ เป็นของนักลงทุนสถาบันระดับโลก รวมถึง BlackRock, General Atlantic และ Susquehanna International Group ส่วน 21% เป็นของผู้ก่อตั้งชาวจีนของบริษัท และ 21% เป็นของพนักงาน ซึ่งรวมถึงชาวอเมริกันประมาณ 7,000 คน.

ที่มา Reuters

ติดตามข่าวต่างประเทศเพิ่มเติมที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign