หลังจากชะลอมานานกว่าครึ่งปี ในที่สุดรัฐบาลสหรัฐอเมริกาก็ประสบความสำเร็จในการผ่านร่างงบประมาณความมั่นคงก้อนโต ซึ่งในนั้นมีงบประมาณสำหรับสนับสนุนรัฐบาลยูเครนรวมอยู่ด้วย 61,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 2.19 ล้านล้านบาท

กลายเป็นข่าวที่น่าดีใจของรัฐบาลยูเครนและผู้ที่สนับสนุนการต่อสู้ของยูเครนทั่วโลก เพราะกรณีนี้ย่อมหมายความว่าปัญหา “ท่อน้ำเลี้ยง” ที่ตีบตันมานานจะถูกคลี่คลาย การสนับสนุนด้านการเงิน อาวุธยุทโธปกรณ์จะไหลมาเทมาเหมือนในช่วงปี 2565 ถึงกลางปี 2566 ก่อนที่กองทัพยูเครนจะปฏิบัติการตีโต้ขนานใหญ่

จนกองเชียร์สื่อตะวันตกพากันเชิดชูว่า Just in time-มาทันเวลา เพราะนับตั้งแต่งบสนับสนุนจากชาติตะวันตกลอตเก่าหมดเกลี้ยงไป กองทัพยูเครนก็ตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบแก่กองทัพรัสเซียตลอดมา ทยอยสูญเสียเมืองป้อมปราการ ไปจนถึงสูญเสียยุทโธปกรณ์และกำลังพล ที่มีตัวเลขล่าสุดว่าสัปดาห์เดียว 8,000 นาย

และทำให้สตอรีบอร์ดของรัฐบาลยูเครน ถูกเขียนขึ้นมาใหม่ จากเดิมที่พูดว่าหากงบไม่มาแพ้สงครามแน่นอน กลับกลายเป็นว่าหากจัดสรรกระจายงบก้อนใหม่เรียบร้อย ไม่เพียงแค่กองทัพยูเครนจะสามารถยับยั้งการบุกของรัสเซีย แต่อาจถึงขั้นที่กองทัพยูเครนจะมีชัยชนะในสงครามครั้งนี้ภายในปี 2568

อย่างไรก็ตาม หากมองตามสภาพความเป็นจริงแล้ว การกลับมาเขียนเรื่องราวว่า เส้นทางที่ยูเครนกำลังเดินไป ข้างหน้าคือหนทางสู่ชัยชนะ ก็ถูกมองได้เช่นกันว่า เป็นการเล่นใหญ่เกินตัว เพราะเรื่องราวจากสนามรบที่หลั่งไหลออกมาจากทุกช่องทางต่างบ่งชี้ว่า กองทัพยูเครนจำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์และกระบวนทัพกันใหม่ทั้งหมด

โดยประการสำคัญประการแรก งบประมาณ 61,000 ล้านดอลลาร์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ใช่งบประมาณที่จะถูกทุ่มหมดหน้าตักไปให้ยูเครน งบประมาณที่จะถูกใช้ในการจัดหากระสุน-อาวุธให้ยูเครนจริงๆในปี 2567 นี้คือ 14,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 504,000 ล้านบาท ขณะที่เหลืออีกกว่า 47,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 1.69 ล้านล้านบาท เป็นงบที่จะทยอยนำไปใช้สนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตอาวุธของสหรัฐฯ และเติมสต๊อกในคลังแสงกองทัพสหรัฐฯที่ร่อยหรอไปในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

...

นอกจากนี้ ถึงกองทัพสหรัฐฯจะไม่มีกั๊ก เร่งกระบวนการส่งมอบกระสุน อาวุธยุทโธปกรณ์ลอตใหม่ให้กองทัพยูเครนอย่างรวดเร็ว ก็จะมีคำถามที่ตามมาในเรื่องของปริมาณ เนื่องจากสถานการณ์การรบในยูเครนเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า คือการรบแบบทำลายล้าง กองทัพรัสเซียอธิบายยุทธศาสตร์อย่างชัดเจนตลอดมาว่า ไม่ได้ต้องการบุกกินแดนอย่างรวดเร็วเหมือนกับการรบในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2

แต่ต้องการสร้างความเสียหายสูงสุดแก่กองทัพยูเครน กล่าวเป็นภาษาชาวบ้านได้ว่าฆ่า ให้มากที่สุด ทำลายยุทโธปกรณ์ให้มากที่สุดตามหลักการทำสงครามยืดเยื้อแบบ “เครื่องบดเนื้อ” เพื่อไม่ให้ยูเครนในอนาคตมีขุมกำลังทางทหารในระดับที่สามารถคุกคามประเทศอื่นๆ

ประการที่สอง กองทัพยูเครนกำลังอยู่ในสภาพเน่าใน นับตั้งแต่เผชิญความล้มเหลวในปฏิบัติการบุกตีโต้ในจังหวัดซาโปริชเชีย ทางภาคใต้ ในช่วงเดือน มิ.ย. ถึง ต.ค. ที่ตามมาด้วยการตั้งรับแบบทู่ซี้ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากแกนนำในรัฐบาลยูเครนเลือกที่จะรักษาหน้า ไม่ยอมเสียเมืองใหญ่ๆ

กระทรวงกลาโหมรัสเซียอ้างว่า นับตั้งแต่ช่วงปลายปีจนถึงเดือน เม.ย. (ช่วงที่ยูเครนเลือกใช้ยุทธวิธีตั้งรับอย่างเหนียวแน่น) ทางกองทัพยูเครนได้สูญเสียกำลังพล ทั้งบาดเจ็บและล้มตายไปแล้วกว่า 400,000 นาย สอดคล้องกับบทสัมภาษณ์จากนายทหารบัญชาการและทหารยูเครนในแนวหน้า ที่แสดงความไม่พอใจในเรื่องนี้ และชี้เป้าว่าตัวการคือ พล.อ.อ.เล็กซานเดอร์ ซีร์สกี ผู้บัญชากองทัพยูเครนคนใหม่ ที่เหล่าทหารมอบฉายาให้ว่า บุชเชอร์-พ่อค้าเนื้อ เนื่องด้วยการตัดสินใจทุ่มกำลังเข้าปกป้องเมืองบาคห์มุต จนสูญเสียหน่วยรบหัวกะทิไปเป็นจำนวนมาก

เช่นเดียวกับประการที่สาม กองทัพรัสเซียที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์การรบจริงมากว่า 2 ปี ได้แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวอย่างมีประสิทธิภาพ นำนวัตกรรมใหม่ๆราคาถูกเข้ามาใช้ในสนามรบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้โดรนพลเรือนตรวจตราสมรภูมิ โดรนติดระเบิด หรือการดัดแปลงระเบิดติดเครื่องบินแบบไม่นำวิถี ให้เป็นระเบิดร่อน เพื่อเพิ่มระยะทำการในการหย่อนระเบิด เครื่องบินรบไม่จำเป็นต้องเข้าไปในระยะยิงของระบบจรวดต่อต้านอากาศ ไปจนถึงการทุ่มกระสุนปืนใหญ่เพื่อการสังหาร พบเห็นทหารยูเครนก็ยิงใส่ไปก่อน ไม่ต้องคำนึงเรื่องการสิ้นเปลือง

ไม่นานมานี้มีบทสัมภาษณ์นายทหารระดับคุมกำลังของยูเครนโดยนิตยสารดิ อีโคโนมิสต์ ยอมรับว่าเมืองป้อมปราการชาร์ซอฟ ยาร์ เป้าหมายต่อไปของกองทัพรัสเซีย อาจจะแตกพ่ายก่อนที่ความช่วยเหลือลอตใหม่ของชาติตะวันตกจะมาถึงยูเครน ขณะที่สื่อในสวิตเซอร์แลนด์ ได้รับข้อมูลจากกลุ่มนายทหารยูเครนที่ประเมินว่า หากทิศทางในสนามรบยังเป็นเช่นนี้ต่อไป กองทัพยูเครนก็จะพ่ายแพ้สงครามภายในปีนี้

โดยมีความเป็นไปได้ว่า ภูมิภาค “ดอนบาส” หรือภาคตะวันออกทั้งหมดของยูเครนจะตกไปอยู่ในเงื้อมมือของกองทัพรัสเซียภายในเดือน ต.ค. และหากสถานการณ์กลายเป็นเช่นนั้นจริง ทางรัฐบาลยูเครนคงต้องยอมจัดการเจรจาเพื่อ “แช่แข็ง” ความขัดแย้ง ซึ่งเป็นถ้อยคำที่สวยหรูกว่าคำว่า “ยอมจำนน”.


วีรพจน์ อินทรพันธ์

คลิกอ่านคอลัมน์ “7 วันรอบโลก” เพิ่มเติม