วินาทีนี้คงไม่มีใครจะทรงอิทธิพล และมีสุดยอดวาจาสิทธิ์เท่า “เจอโรม พาวเวลล์” ประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือ FED ไม่ว่าชายคนนี้จะพูดอะไร โลกทั้งโลกต่างต้องหยุดฟังด้วยใจจดใจจ่อ เพราะแค่ไม่กี่ประโยคไม่กี่คำ ก็ส่งผลกระทบสะเทือน เลื่อนลั่นต่อการขึ้นลงของตลาดสินทรัพย์ทั่วโลก ทำไมทุกๆ 6 สัปดาห์ นักลงทุนทั้งโลกจะต้องตั้งตารอฟังบุรุษสูงวัยผู้นี้ และพยายามตีความทุกถ้อยคำของเขา เพื่อชี้เป็นชี้ตายอนาคตทางเศรษฐกิจของอเมริกา และสินทรัพย์ทั้งโลก
ฝีไม้ลายมือของ “เจอโรม พาวเวลล์” เป็นที่ลือลั่นตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2020 โดยเขาเป็นหัวหอกนำธนาคารกลางสหรัฐฯ อัดฉีดเงินเข้าระบบอย่างมหาศาล เพื่อพยุงเศรษฐกิจอเมริกา ซึ่งก็ได้ผลตามคาดจริงๆ แต่กลับต้องแลกด้วยตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งทะยานไปทั้งโลก และกว่าจะดับความร้อนแรงลงได้ เฟดต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วและรุนแรงหลายครั้ง จนถึงระดับ 5.25-5.50% เพื่อลดสภาพคล่องในระบบสู้กับเงินเฟ้อ สุดท้ายเงินเฟ้อค่อยๆ ลดลงเหลือ 3.2% ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พร้อมความเสี่ยงใหม่ที่ปะทุขึ้น นั่นคือสัญญาณการชะลอตัวลงทางเศรษฐกิจ และการจ้างงานที่ลดลง ส่อเค้าต้องปรับลดดอกเบี้ยลงอีกระลอก หากคุมเงินเฟ้อได้ตามเป้า 2%
ย้อนประวัติประธานเฟดคนปัจจุบัน เกิดที่รัฐวอชิงตัน ดี.ซี. โดยบิดามีอาชีพทนายความ เขาร่ำเรียนจบปริญญาตรี สาขารัฐศาสตร์ จากพรินซ์ตัน ยูนิเวอร์ซิตี้ และเป็นผู้ช่วยของวุฒิสมาชิกจากรัฐเพนซิลเวเนีย “ริชาร์ด ชไวเกอร์” สังกัดพรรครีพับลิกัน อยู่ 1 ปีเต็ม ก่อนจะคว้าปริญญาด้านกฎหมายอีกใบ จากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์
เขาเริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นผู้ช่วยของผู้พิพากษาในศาลอุทธรณ์สหรัฐฯ จากนั้นจึงขยับมาเป็นทนายความอาชีพอยู่กับสำนักงานกฎหมายใหญ่ๆ 2-3 แห่ง ก่อนจะค้นพบเส้นทางใหม่ที่ปูทางสู่อนาคตแท้จริง นั่นคือ การเข้าไปทำงานในบริษัทวาณิชธนกิจชื่อดัง “Dillon Read & Co.” เขาสั่งสมประสบการณ์อย่างจริงจังในแวดวงการเงินอยู่นานกว่า 6 ปี กระทั่งไต่เต้าขึ้นเป็นรองประธานบริษัท ทำมาหมดทั้งดีลระดมทุน, การก่อตั้งธนาคารเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และการควบรวมกิจการ เมื่อเจ้านายเก่า “นิโคลาส เอฟ. เบรดี” ถูกดึงตัวไปเป็นรัฐมนตรีคลังของอเมริกา จึงทาบทาม “พาวเวลล์” ไปเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีคลัง ในสมัยของ “ประธานาธิบดีจอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช” ขณะนั้นเขาอายุเพียง 39 ปี หลังประธานาธิบดีบุชผู้พ่อหมดวาระลง พาวเวลล์กลับมาทำงานในแวดวงการเงินเอกชน โดยรั้งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของ “Bankers Trust”, พาร์ตเนอร์ร่วมก่อตั้ง “Carlyle Group” และบริหารกองทุนรวมส่วนบุคคลอีกหลายกองทุน
...
กระทั่งมาในยุคของ “ประธานาธิบดีบารัก โอบามา” จากพรรคเดโมแครต เขาได้รับการเสนอชื่อให้เป็นกรรมการของเฟด โดยสร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ชัดคือ การจัดระเบียบอุตสาหกรรมทางการเงินให้เข้มงวดขึ้น หลังอเมริกาได้รับบทเรียนใหญ่จากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์
ต่อมาในยุคของ “ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์” ก็ได้รับความไว้วางใจอย่างสูง แต่งตั้งเป็นประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา คนที่ 16 ต่อจาก “เจเน็ต เยลเลน” เขาโชว์วิสัยทัศน์ด้วยนโยบายขึ้นดอกเบี้ย และการลดขนาดงบดุลของเฟด เพื่อดูดสภาพคล่องออกจากระบบการเงินโลก ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ทั่วโลกปรับตัวลดลง ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสร้างความไม่พอใจอย่างมากให้ทรัมป์ ถึงขนาดตราหน้าพาวเวลล์ว่าเป็นศัตรูตัวร้ายของเศรษฐกิจอเมริกา ร้ายเสียยิ่งกว่าจีน ซึ่งเป็นศัตรูอันดับหนึ่งตลอดกาล
ประธานเฟดจำใจต้องหักเลี้ยวกลับมาใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอีกครั้งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ กระทั่งมาเจอกับความท้าทายจากวิกฤติโควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกตั้งแต่ต้นปี 2020 งานนี้พาวเวลล์เลือกแก้ปัญหาด้วยการอัดฉีดเงินเข้าระบบอย่างมหาศาล ผลข้างเคียงที่ตามมาคือ การทะยานขึ้นของตัวเลขเงินเฟ้อทั่วโลก เดือดร้อนต้องพลิกเกมแก้ โดยเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วเกินต้าน จนถึงระดับ 5.25-5.50% รวมถึงลดสภาพคล่องในระบบลงอีกรอบ เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ
ท่ามกลางการอาละวาดของปีศาจเงินเฟ้อ “ประธานาธิบดีโจ ไบเดน” เลือกเสนอชื่อพาวเวลล์เป็นประธานเฟดสมัยที่สอง จนถึงปี 2026 อย่างน้อยตลอด 2 ปีข้างหน้า เขาก็คือบุรุษทรงอิทธิพลที่สุดของโลก ผู้สามารถชี้เป็นชี้ตายอนาคตของมูลค่าทรัพย์สินทุกอย่างบนโลกใบนี้.
มิสแซฟไฟร์
คลิกอ่านคอลัมน์ “คนดังอะราวนด์เดอะเวิลด์” เพิ่มเติม