ซากเมืองโบราณเมืองอายุ 300 ปีซึ่งจมอยู่ใต้น้ำ หลังการสร้างเขื่อนทางตอนเหนือของฟิลิปปินส์ในช่วงทศวรรษ 1970 ได้ปรากฏขึ้นอีกครั้งหลังระดับน้ำลดลง เนื่องมาจากภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อหลายพื้นที่ในประเทศ
มาร์ลอน ปาลาดิน วิศวกรกำกับดูแลของสำนักงานชลประทานแห่งชาติ กล่าวว่า ซากปรักหักพังกลางเขื่อนปันตาบางัน ในจังหวัดนูเอวาเอซีจา ได้กลายเป็นสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว แม้ว่าภูมิภาคนี้กำลังเผชิญสภาพอากาศร้อนจัดก็ตาม ทำให้ซากโบสถ์ ป้ายศาลากลาง และป้ายหลุมศพ เริ่มปรากฏขึ้นอีกครั้งตั้งแต่เดือนมีนาคม หลังจาก "แทบไม่มีฝนตก" มานานหลายเดือน
นับเป็นครั้งที่ 6 แล้วที่ซากเมืองปันตาบางัน อายุเกือบ 300 ปี ได้ปรากฏขึ้นอีกครั้ง นับตั้งแต่มีการสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อจัดหาน้ำชลประทานให้กับเกษตรกรในท้องถิ่น และผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ตัวเลขจากรายงานพยากรณ์อากาศของรัฐบาล ระบุว่า ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำลดลงเกือบ 50 เมตร จากระดับสูงสุดปกติที่ 221 เมตร
โดยปกติแล้วเดือนมีนาคม เมษายน และพฤษภาคมจะเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดและแห้งแล้งที่สุดของฟิลิปปินส์ แต่สภาพอากาศในปีนี้กลับเลวร้ายลงจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ประมาณครึ่งหนึ่งของจังหวัดในฟิลิปปินส์ รวมถึงจังหวัดนูเอวาเอซีจา กำลังประสบภัยแล้งอย่างรุนแรง
โดยนักท่องเที่ยวที่ต้องการชมซากปรักหักพังอย่างใกล้ชิด ต้องจ่ายเงินประมาณ 300 เปโซ (ราว 193 บาท) ให้กับชาวประมงเพื่อนั่งเรือไปยังเกาะเล็กๆ ที่อยู่กลางอ่างเก็บน้ำ
ทั้งนี้ อุณหภูมิในจังหวัดนูเอวาเอซีจา พุ่งสูงถึงประมาณ 37 องศาเซลเซียส เกือบทุกวันในสัปดาห์นี้ โดยดัชนีความร้อนอยู่เหนือระดับอันตราย ที่ประมาณ 42 องศาเซลเซียส ระดับน้ำที่ลดลงส่งผลให้โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2 แห่งใกล้เขื่อนต้องหยุดเดินเครื่องเมื่อต้นเดือนนี้ ก่อนการปิดโรงไฟฟ้าตามปกติในวันที่ 1 พฤษภาคม นอกจากนี้ยังทำให้ชาวนาจำนวนมากขาดน้ำชลประทานที่จำเป็นต่อการเพาะปลูก ส่งผลให้บางคนต้องเปลี่ยนมาปลูกผักซึ่งใช้น้ำน้อยลง
...
โดยที่เมืองมูโนซที่ตั้งอยู่ใกล้เขื่อน มีดัชนีความร้อนสูงกว่า 41.1 องศาฯ ในช่วง 5 วันที่ผ่านมา ส่วนเมื่อวันอาทิตย์ อุณหภูมิที่รู้สึกได้พุ่งขึ้นเป็น 47 องศาฯ เนื่องจากมีปัจจัยอื่นๆ ตามรายงานของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาฟิลิปปินส์ เมื่อปลายเดือนมีนาคม สภาพความแห้งแล้งได้ปกคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตอนเหนือและตอนกลางของเกาะลูซอน รวมถึงจังหวัดนูเอวาเอซีจา ซึ่งเป็นที่ตั้งของเขื่อน ส่วนในเดือนเมษายนฟิลิปปินส์ยังคงเผชิญความแห้งแล้งทั่วประเทศ โดยบางส่วนของภาคกลางและภาคใต้ของเกาะลูซอน มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่า 25% ที่ควรได้รับในช่วงเวลานี้
ในปีนี้ รูปแบบสภาพภูมิอากาศของปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้สภาวะเหล่านั้นเลวร้ายลง นอกเหนือจากภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากฝีมือของมนุษย์.
ที่มา CNN
ติดตามข่าวต่างประเทศเพิ่มเติมที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign