เจ้าของภัตตาคารไทยในหลายประเทศเป็นชาวเวียดนาม ในอดีตส่วนหนึ่งของเจ้าของภัตตาคารเหล่านี้เคยมาเป็นผู้ช่วยพ่อครัวในร้านอาหารของไทย เมื่อเรียนรู้วิธีการทำอาหารไทยด้วยรสชาติไทยแท้ๆ อย่างชำนาญแล้ว ก็กลับไปเปิดร้านอาหารไทยในเวียดนามและในประเทศต่างๆ โดยใช้ชื่อว่าอาหารอาเซียน มีเมนูยอดฮิตเป็นพวกต้มยำกุ้ง มัสมั่น ข้าวผัดกะเพรา ผัดไทย ฯลฯ

พอรู้ว่าคนมากกว่า 200 ล้านคนเป็นวีแกน (ไม่ทานและไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์) บริษัทในประเทศเวียดนามจึงผลิตน้ำปลาวีแกน ที่ขายดีในหมู่ชาววีแกนในตอนนี้คือน้ำปลายี่ห้อ 24 Vegan ผลิตจากถั่วเหลืองที่ไม่ใช่จีเอ็มโอ เกลือทะเล น้ำตาลอ้อย เครื่องปรุงรสมังสวิรัติ ไม่ใส่สารกันบูด ไม่ใช้สีเทียม องค์ประกอบส่วนใหญ่คือถั่ว

ส่วนน้ำปลาที่ ‘ไม่ใช่วีแกน’ แต่เป็นน้ำปลาจากปลาทะเลจริงๆ คนเวียดนามก็ผลิต หลายท่านอาจจะประหลาดใจที่เห็นน้ำปลาแซลมอนที่ผลิตในราชอาณาจักรนอร์เวย์ พอพูดถึงน้ำปลา หลายคนก็เดาว่าน่าจะผลิตโดยคนไทยที่ไปอยู่ในนอร์เวย์ แต่ปรากฏว่าไม่ใช่ครับ ผู้ผลิตคือชาวเวียดนาม คนเวียดนามกลุ่มนี้ตั้งบริษัทผลิตน้ำปลาจากปลาแซลมอนที่ชื่อว่านูมามิ ตั้งอยู่ที่เมืองสกาสเวเกน เมืองชายฝั่งตอนใต้ของนอร์เวย์ ห่างจากกรุงออสโลเมืองหลวง 500 กิโลเมตร

ชาวเวียดนามใช้เวลา 5 ปี ร่วมกับ Norwegian Institute of Food (สถาบันอาหารนอร์เวย์) สถาบันวิจัยด้านการประมงและการเพาะเลี้ยงพืชและสัตว์น้ำโนฟิมา Norwegian Seafood Research Fund (กองทุนวิจัยอาหารทะเลนอร์เวย์) และบริษัท เพลาเจีย วิจัยและค้นคว้าเรื่องการนำปลาแซลมอนมาทำน้ำปลา

นูมามิตั้งขึ้นมาเพื่อมุ่งมั่นผลิตและจำหน่ายน้ำปลาเพียงอย่างเดียว ตอนนี้มีผลิตภัณฑ์น้ำปลาจากปลาคอด น้ำปลาจากแซลมอน และน้ำปลาจากปลาผิวน้ำทะเล ปัจจุบันจำหน่ายทั้งในนอร์เวย์ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ฮังการี เช็ก สโลวะเกีย และสหรัฐฯ

...

น้ำปลาแบรนด์ดังที่ผลิตในเวียดนามก็เช่น น้ำปลาตราปูสามตัว (Three Crabs) น้ำปลาตราเรือแดง (Red Boat) น้ำปลาตราลูกชาย (Son) บริษัทผู้ผลิตน้ำปลาเดี๋ยวนี้ไม่ใช่ผลิตกันในไทยหรือเวียดนามเท่านั้น ของฟิลิปปินส์ก็มีอย่างยี่ห้อ รูฟิน่า (Rufina) ของเกาหลีก็เช่น ยี่ห้อวังชิน (Wangshin) คนทั่วไปสามารถสั่งซื้อน้ำปลาเหล่านี้ได้ง่ายจากอะเมซอน

ผมไปเวียดนามกับพ่อเมื่อ ค.ศ.2000 เห็นคนเวียดนามปลูกทุเรียนเฉพาะในเขตเตินกวี (เขตที่ 7 ของโฮจิมินห์) ที่เบียนฮหว่า เมืองหลักของจังหวัดด่งนาย จังหวัดเบ๊นแจ จังหวัดเตี่ยนซาง และจังหวัดหวิญล็อง

เมื่อเอามาเล่าให้คนไทยฟังว่า คนเวียดนามเริ่มปลูกเสี่ยวเรียง (ทุเรียน) คนไทยก็บอกว่า ไม่มีทางสู้ทุเรียนไทยได้ สมัยก่อนคนญวนปลูกทุเรียนกันแค่ไม่กี่พันธุ์ เช่น ชินฮวา รีเซาหรือเกิมหว่างหาดเล็บ (RI6) หมอนทอง หาดเล็บจ่วงบ่อ ก้านยาว (ปลูกมากที่จังหวัดเบ๊นแจ) ฯลฯ

ปัจจุบันคนเวียดนามขายการปลูกทุเรียนไปที่จังหวัดอานซาง เกียนซาง ก่าเมา บักเลียว ซ้อกจัง จ่าวิญ ด่งท้าป ล็องอาน บ่าเสียะ-หวุงเต่า บิ่ญถ่วน บิ่ญเซือ เต็ยนิญ บิ่ญเฟื้อก ดั๊กนง คั้ญฮหว่า ฯลฯ ผมและครอบครัวตระเวนตลาดทุเรียนในกว่างตง เดี๋ยวนี้คนจีนนิยมทุเรียนเวียดนามมีผลผลิตที่สมบูรณ์ มีบริโภคทั้งปี ที่สำคัญก็คือเวียดนามอยู่ติดกับจีน สามารถขนส่งได้อย่างรวดเร็ว ทั้งที่รัฐบาลจีนเพิ่งอนุมัติทุเรียนเวียดนามเข้าประเทศจีนได้ภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี

ไทยได้รับอนุญาตจากรัฐบาลจีนให้ส่งออกทุเรียนสด ทุเรียนสดแช่แข็ง ทุเรียนสดแปรรูปไปยังตลาดจีนได้ แต่จีนอนุญาตเวียดนามให้ส่งออกได้เพียงทุเรียนสดไปยังประเทศจีน แม้อนุญาตให้เพียงอย่างเดียว แต่ทุเรียนเวียดนามก็ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เพราะระยะทางอยู่ใกล้กว่าจึงทำให้ชาวเวียดนามตัดทุเรียนได้ใน ‘ความแก่’ ที่มากกว่าตัดจากประเทศไทย

เวียดนามมีพื้นที่เพียง 3.3 แสน ตร.กม. แถมพื้นที่ครึ่งหนึ่งของเวียดนามเป็นภูเขา ที่เป็นที่ราบก็โดนพายุถล่มอย่างหนัก แต่เกษตรกรเวียดนามก็เข็นสินค้าการเกษตรของตนจนเป็นระดับต้นของโลก เช่น กาแฟโรบัสต้า พริกไทย ข้าว ทุเรียน ฯลฯ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com

คลิกอ่านคอลัมน์ "เปิดฟ้าส่องโลก" เพิ่มเติม