เมื่อ 24 เม.ย. สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า วุฒิสภาสหรัฐฯ มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายงบประมาณมูลค่า 95,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 3.42 ล้านล้านบาท ให้การสนับสนุนทางการทหารแก่ยูเครน อิสราเอล และภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งรวมถึงไต้หวัน โดยได้รับเสียงสนับสนุนเอกฉันท์ 79 ต่อ 18 เสียง หลังก่อนหน้านี้ วุฒิสภามีมติเห็นชอบร่างกฎหมายงบประมาณให้ความช่วยเหลือยูเครนและอิสราเอลฉบับก่อนหน้าเมื่อเดือน ก.พ. แต่เกิดล่าช้า ขณะที่นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยืนยันการลงนามร่างดังกล่าวเพื่อให้มีผลบังคับใช้ในวันเดียวกัน

สำหรับร่างกฎหมายงบประมาณมูลค่ามหาศาลนี้ ประกอบด้วยงบประมาณให้ความช่วยเหลือยูเครน 61,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2 ล้านล้านบาท) ในจำนวนนี้ใช้สำหรับการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ของยูเครนจำนวน 13,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 510,703 ล้านบาท) จัดสรรงบประมาณ 26,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 962,260 ล้านบาท) ใช้สำหรับสนับสนุนทางการทหารแก่อิสราเอล รวมถึงจัดหาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่พลเรือนในฉนวนกาซา ท่ามกลางการสู้รบระหว่างกองทัพอิสราเอลกับกองกำลังติดอาวุธปาเลสไตน์กลุ่มฮามาสที่รุนแรงต่อเนื่อง ขณะที่ความช่วยเหลือชาติพันธมิตรในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก รวมถึงไต้หวันในการต่อต้านท่าทีคุกคามจากจีนมีมูลค่ารวม 8,000 ล้านดอลลาร์ (296,080 ล้านบาท)

ด้านนายโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน แถลงขอบคุณที่สหรัฐฯ อนุมัติความช่วยเหลือที่มีความสำคัญอย่างยิ่งแก่ยูเครน ชี้ให้เห็นบทบาทของสหรัฐฯ ว่าเป็นแสงสว่างแห่งประชาธิปไตย รวมถึงยังเป็นผู้นำแห่งโลกเสรี เช่นเดียวกับนายอิสราเอล คัตซ์ รมว.ต่างประเทศอิสราเอล ที่แสดงความขอบคุณ ระบุเป็นการเน้นย้ำความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งระหว่าง 2 ชาติ ยังส่งข้อความอย่างหนักแน่นให้แก่ฝ่ายศัตรู ส่วน น.ส.ไช่ อิง เหวิน ประธานาธิบดีไต้หวันเปิดเผยว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สภาคองเกรสมีมติเห็นชอบร่างกฎหมายงบประมาณให้การสนับสนุนของสหรัฐฯ

...

อย่างไรก็ตาม น.ส.จู เฟิ่ง เหลียน โฆษกประจำสำนักงานกิจการไต้หวันของจีนแสดงความไม่พอใจ ต่อต้านร่างกฎหมายงบประมาณนี้ ระบุเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดพลาดให้กับกองกำลังแบ่งแยกดินแดนไต้หวัน เรียกร้องไม่ให้สหรัฐฯสนับสนุนเอกราชไต้หวัน รวมถึงยุติการสนับสนุนทางทหารแก่ไต้หวันทุกรูปแบบ ส่วนนายหวัง เหวิน ปิน โฆษกประจำกระทรวงการต่างประเทศจีนชี้ว่า การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการสมรู้ร่วมคิดทางการทหารระหว่างสหรัฐฯ กับไต้หวันไม่อาจนำมาสู่ความมั่นคง มีแต่จะสร้างความตึงเครียด เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดความขัดแย้ง และการปะทะในช่องแคบไต้หวัน.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่