การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลให้กองทัพเมียนมาส่งกำลังทหารเข้ามาเสริมในพื้นที่โต้ตอบชิงพื้นที่คืนจนเกิดการปะทะกันอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ

ทำให้สถานการณ์ในเมียวดีตึงเครียดจากกองทัพเมียนมาอาจจะตอบโต้หนักหลังจากนี้ รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รอง ผอ.สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ให้ฟังว่า ตอนนี้กองกำลัง KNU จับมือกับกองกำลัง PDF และพันธมิตรอื่น “เข้ายึดเมืองเมียวดี” เพราะมีแผนจะควบคุมถนนสายเอเชีย

อันเป็นเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” มีจุดเริ่มต้นจากแปซิฟิก ผ่านเวียดนาม เข้าแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว และข้ามแม่น้ำโขงเข้าสู่เขตไทย จ.มุกดาหาร ผ่าน จ.กาฬสินธุ์ ขอนแก่น เพชรบูรณ์ พิษณุโลก มาสุดที่ อ.แม่สอด จ.ตาก และเข้าเมียนมา

แล้วถนนเส้นนี้ยังเชื่อมต่อ “ทางหลวงไตรภาคีอินเดีย เมียนมา และไทย” ที่เรียกว่า “เส้นเลือดใหญ่ทางเศรษฐกิจ” ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ และผู้โดยสารเดินทางสะดวกมากยิ่งขึ้น ทำให้กลายเป็นว่าเศรษฐกิจเมียนมาส่วนหนึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาถนนเอเชียแห่งนี้

...

เรื่องนี้เป็นเหตุให้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเมียนมาพยายามบุกโจมตียึดครองเมียวดีอันเป็นเมืองหน้าด่านการค้าชายแดนที่สำคัญของเมียนมา และต้องการควบคุมถนนแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ล่าสุดก็มีข่าวเตรียมเข้ายึดเมืองกอกาเลก แต่ด้วยกองทัพเมียนมาก็ไม่ยอมที่จะให้ฝ่ายต่อต้านเข้ายึดเส้นทางนี้เหมือนกัน

ดังนั้น ตอนนี้ “ความขัดแย้งในเมียนมา” เป็นศึกสู้รบปะทะกันทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเมียนมาในเขตรัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ และขยายมารัฐตะนาวศรีบางส่วน ซึ่งล้วนมีแนวชายแดนติดกับประเทศไทย

เมื่อไฟสงครามปะทุขึ้นเช่นนี้ “ย่อมกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และความมั่นคงในลุ่มแม่น้ำเมย” ตั้งแต่ อ.อุ้มผาง อ.พบพระ อ.แม่สอด อ.แม่ระมาด อ.ท่าสองยาง จ.ตาก และขยายแนวรบไปยัง “รัฐคะยา” ส่งผลกระทบไปถึง อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี และ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน อีกด้วย

สะท้อนให้เห็นว่า “ฝ่ายต่อต้านระดับปฏิบัติการทางทหาร” ในการช่วงชิงเส้นทางเศรษฐกิจ ตัดทางลำเลียงเสบียงอาหาร ยุทโธปกรณ์ด้วยการก่อเหตุวินาศกรรมสิ่งปลูกสร้างทางยุทธศาสตร์ แล้วในช่วงหลังมานี้มีการใช้โดรนกามิกาเซ่โจมตีถล่มจุดสำคัญ ทำให้ฝ่ายทหารเมียนมาต่างเพลี่ยงพล้ำสูญเสียฐานปฏิบัติการหลายแห่ง

รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช
รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช

จริงๆแล้ว “เขตสมรภูมิรบในเมียวดี” มีกองบัญชาการภาคตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ในเมาะละแหม่งโดยมี พล.อ.โซ วิน ผู้นำอันดับ 2 กองทัพเมียนมา “ลงมาบัญชาการรบ” แต่ฝ่ายต่อต้านก็ใช้โดรนโจมตีจนมีทหารเสียชีวิต “กองทัพเมียนมา” จึงส่งทหารมาสนับสนุนชิงเมียวดี และทวงคืนแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก

ทำให้ระดับการสู้รบไม่ได้อยู่เฉพาะ “เมียวดี กอกาเลก พะอาน” แต่ขยายแนวรบไปรัฐมอญ และมะละแหม่งด้วย แล้วถ้าดูตามแผนที่ประเทศเมียนมาชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีน อินเดีย หรือไทย “ฝ่ายต่อต้าน” ก็เข้ายึดครองปิดล้อมรัฐกะยา รัฐคะฉิ่น รัฐชีน และรัฐยะไข่ที่ถูกยึดท่าเรือน้ำลึกเชื่อมต่อท่าเรือจีนด้วย

ดังนั้น ภาพรวม “กลุ่มต่อต้าน” สามารถเข้ายึดพื้นที่ส่วนใหญ่ตามแนวชายแดนเมียนมาเพิ่มขึ้นมากกว่า 50-60% กลายเป็นการกระชับพื้นที่ปิดวงล้อม “รัฐบาลทหาร” ที่ยังคงเหลือเฉพาะไข่แดงตรงกลางประเทศ

แต่ถ้าดูเฉพาะพื้นที่ใกล้ชายแดนไทยอย่างเมียวดีตลอดการสู้รบ 3 ปีมานี้ กองทัพเมียนมาเพลี่ยงพล้ำสูญเสียพื้นที่ไป 80-90% และสูญเสียทหารไปราว 2 หมื่นนาย ในส่วน “กลุ่มต่อต้าน” มีการสูญเสียอยู่ที่หลักพันคน

ปัญหามีต่อว่า “เมียวดีเป็นแหล่งธุรกิจชาวจีน” โดยเฉพาะธุรกิจสีเทา และบ่อนการพนันจำนวนมาก ในเรื่องนี้นักลงทุนจีนมีทางเลือกจากการผูกความสัมพันธ์กับกองกำลังติดอาวุธหลายกลุ่ม ดังนั้น เมื่อทหารเมียนมาสูญเสียเมียวดีไปแล้วย่อมมาตกอยู่ในการควบคุมของ KNU และกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF)

โดยมี “พ.อ.หม่อง ชิตู ผู้นำ BGF” ที่เข้าไปร่วมลงทุนกับจีนเทาสร้างธุรกิจบ่อนกาสิโนในเขตพื้นที่ชเวโก๊กโก่ ริมแม่น้ำเมย ตรงข้าม อ.แม่สอด และ อ.แม่ระมาด จ.ตาก “มีรายได้มหาศาลจากธุรกิจเหล่านี้” ทำให้กองกำลัง KNU PDF จำเป็นต้องพึ่งพา BGF เพราะมีความสนิทสนมกับกลุ่มจีน และกองกำลังติดอาวุธที่ดูแลชเวโก๊กโก่

...

เช่นนี้แม้ว่า “เมียวดีตกมาอยู่ในการดูแลของกองกำลัง KNU” ก็ยังมีกลุ่ม BGF เป็นตัวเชื่อมต่อคอนเนกชันกับ “ทุนจีน” ทำให้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจสีเทาของจีน

มีคำถามต่อว่า “ฝ่ายต่อต้านนำอาวุธมาจากที่ใด...?” เรื่องนี้มีแหล่งที่มาหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นอาวุธเก่าของเดิมจากในสมัย “สงครามเย็น” ทั้งยังมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ยึดได้จากค่ายทหารเมียนมา แล้วช่วงที่ผ่านมา “รัฐบาล NUG เงา” ได้จัดตั้งหน่วยผลิตอาวุธ และยุทโธปกรณ์ เพื่อใช้ในการสู้รบกับกองทัพเมียนมาเอง

ด้วยการสั่งซื้อนำเข้า “วัสดุ อุปกรณ์ใช้กับพลเรือนทั่วไป” แล้วนำมาดัดประกอบเป็นอาวุธใหม่ เช่น โดรน ปืนยาว ทั้งยังมีอาวุธจากการประสาน “ชนกลุ่มน้อยในรัฐฉาน” เพื่อให้กลุ่มว้าแดงสั่งซื้อมาจากจีนด้วย

ถัดมาหากวิเคราะห์ “การสู้รบในเมียนมา” สถานการณ์จะยังคงมีการปะทะกันระหว่างฝ่ายต่อต้าน และทหารเมียนมาลักษณะนี้ไปเรื่อยๆ แต่อาจจะมีการเจรจาพักรบกันบางพื้นที่ อย่างกรณี “ปฏิบัติการ 1027” สาเหตุกองกำลังชนกลุ่มน้อย “ไม่บุกโจมตีเข้ามัณฑะเลย์” ก็เพราะจีนเข้ามาควบคุมให้มีการเจรจาต่อกัน

...

ผลสรุปข้อตกลงคราวนั้น “กองกำลังชนกลุ่มน้อย” บริหารจัดการปกครองทางภาคเหนือของประเทศบางส่วนติดชายแดนจีน-อินเดียได้โดยฝ่ายกองทัพเมียนมายอมถอนกำลังออกจากพื้นที่ทั้งหมด แลกกับการไม่ขยายการโจมตีมัณฑะเลย์ หรือพื้นที่อื่นเพิ่มเติม สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นสันติภาพชั่วคราวสามารถเกิดขึ้นได้ในบางพื้นที่

เช่นเดียวกับสถานการณ์ในเมียวดี “หากฝ่ายต่อต้านสู้รบจนกระสุน และกำลังคนหมด” ก็อาจจะหันมาเจรจาขอพักรบชั่วคราว “เว้นได้ชัยชนะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ” ก็อาจรุกคืบขยายแนวสู้รบไปประชิดใจกลางประเทศก็เป็นไปได้ ดังนั้นเรื่องนี้คงต้องขึ้นอยู่กับผลการสู้รบที่ต้องเฝ้าดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิดกันต่อไป

จริงๆแล้วสถานการณ์นี้ “พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำเมียนมา” ค่อนข้างกังวลจนต้องตั้งรับแก้เกมใหม่ “ด้วยการลดขอบเขตการปฏิบัติการทางทหาร” แล้วเคลื่อนย้ายเข้ามารักษาการในเนปิดอว์ และเมืองใจกลางของประเทศ ส่วนชายแดนจะตอบโต้เฉพาะพื้นที่สำคัญ เช่น กอกาเลก เมียวดี เพราะเป็นเส้นเลือดทางเศรษฐกิจ

...

เช่นนี้จะทำให้ “รัฐบาลทหารเมียนมา” สามารถปกครองต่อไปได้เพียงแค่ขอบเขตการควบคุมจะเล็กลง แต่ในแง่เกมการเมืองเชื่อว่า “พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย” มีแผนจะยื่นไพ่ใบสุดท้ายในการประกาศจัดการเลือกตั้งใหม่ เพื่อสร้างความสงบเรียบร้อยเป็นเอกภาพให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย

เมื่อถึงวันนั้น “ฝ่ายต่อต้าน” จะแตกออกเป็น 2 ฝ่าย คือ 1.ฝ่ายอยากลงสมัครเลือกตั้ง เพื่อขอเกลี่ยโควตาในการจัดตั้ง ครม.จากพรรคการเมืองทหาร ทำให้พลังการต่อต้าน และแรงกดดันทหารลดน้อยถอยลง

ส่วนกลุ่มที่ 2.ฝ่ายไม่สนใจกับการเลือกตั้ง แต่มุ่งมั่นขับไล่รัฐบาลทหารออกจากการเมือง แต่ด้วยประเทศเป็นประชาธิปไตยแล้วอาจนำไปสู่ “การปราบปราม” ต้องถูกกล่าวหาให้เป็นกลุ่มก่อการร้ายก็ได้

อย่างไรก็ตาม “การเลือกตั้ง” คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในปีนี้ เพราะรัฐบาลจำเป็นต้องจัดการให้ประเทศเกิดความสงบเรียบร้อยกว่านี้เสียก่อนทำให้รัฐบาลเมียนมาอาจจะประกาศจัดการเลือกตั้งในปี 2568 ก็ได้

นี่คือสถานการณ์ “การสู้รบในเมียนมา” อันมีความเป็นไปได้ว่ากองทัพเมียนมาจะปฏิบัติการทางทหารโต้ตอบอย่างหนักหน่วง เพื่อชิงพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญกลับคืน คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม