• อิสราเอล-อิหร่าน สองประเทศสำคัญในภูมิภาคตะวันออกกลาง ‘เปิดหน้า’ ทำสงครามกันโดยตรงเป็นครั้งแรก หลังซุ่มทำ ‘สงครามลับ’ ผ่านการสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธกันมาหลายสิบปี
  • ทำไมอิสราเอลและอิหร่าน จึงกลายเป็นปรปักษ์ ศัตรูคู่แค้นที่บาดหมางร้าวลึกกันมายาวนาน จนกำลังทำให้สถานการณ์ในตะวันออกกลางตึงเครียดหนัก และสงครามพร้อม ‘ระเบิด’ ขึ้นได้ทุกเมื่อ

เสียงระเบิดหลายครั้งที่ดังสนั่นเหนือท้องฟ้าในจังหวัดอิสฟาฮาน ทางตอนกลางของอิหร่านเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 19 เมษายน 2567 ทำให้ชาวอิหร่าน อิสราเอล และนานาประเทศทั่วโลกต้องหวั่นวิตก เพราะนี่ถือเป็นการเปิดฉากโจมตีของอิสราเอล เพื่อตอบโต้อิหร่านที่ส่งโดรนและยิงขีปนาวุธกว่า 300 ลูก มาโจมตีอิสราเอลเมื่อไม่กี่วันก่อน นับเป็นการทำสงครามโดยตรง โจมตีกันแบบซึ่งหน้าเป็นครั้งแรก หลังอิหร่านใช้การทำ ‘สงครามตัวแทน’ สู้กับอิสราเอลมาหลายสิบปี

จนก่อให้เกิดคำถามว่า ทำไมอิสราเอลและอิหร่าน จึงกลายเป็นชาติปรปักษ์ ศัตรูคู่แค้นกันมายาวนานขนาดนี้? และทั้งสองชาติกำลังสร้างความเสี่ยงมากขึ้นที่จะทำให้สถานการณ์ตึงเครียด ยกระดับกลายเป็นสงครามในตะวันออกกลาง

อิหร่านเปิดฉากส่งโดรนและยิงขีปนาวุธกว่า 300 ลูกมาโจมตีอิสราเอล เมื่อ 13 เมษายน 2567 แต่ถูกระบบป้องกันภัยทางอากาศของอิสราเอลสกัดได้เป็นส่วนใหญ่
อิหร่านเปิดฉากส่งโดรนและยิงขีปนาวุธกว่า 300 ลูกมาโจมตีอิสราเอล เมื่อ 13 เมษายน 2567 แต่ถูกระบบป้องกันภัยทางอากาศของอิสราเอลสกัดได้เป็นส่วนใหญ่

...

จุดเริ่มต้นความขัดแย้งอิสราเอล-อิหร่าน

ความจริงแล้ว อิสราเอลและอิหร่าน เคยเป็นมิตรกันมาก่อน จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติอิสลามในอิหร่านเมื่อปี ค.ศ. 1979

ในช่วงนั้น อิหร่านถูกปกครองโดยราชวงศ์ปาห์ลาวี มายาวนานเกือบ 54 ปี ระหว่างปี ค.ศ. 1925-1979 และพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ทรงครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของอิหร่าน ในช่วงปี ค.ศ. 1941-1979 

ก่อนความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านมาถึงจุดแตกหักนั้น มิตรไมตรีระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านหวานชื่น ถึงขนาดที่อิหร่าน เป็นหนึ่งในประเทศที่รับรองรัฐอิสราเอล หลังประกาศอิสรภาพและก่อตั้งชาติได้สำเร็จในปี 1948 จึงทำให้อิสราเอลเคารพอิหร่านในฐานะเป็นชาติอาหรับที่เป็นพันธมิตร ในขณะเดียวกัน อิหร่านก็ยินดีที่รัฐบาลสหรัฐฯ สนับสนุนอิสราเอล ซึ่งถือเป็นการช่วยคานน้ำหนักกับประเทศอาหรับอื่นๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง

ย้อนกลับไปในช่วงที่ทั้งสองประเทศยังดีต่อกันนั้น อิสราเอลได้มีการฝึกสอนผู้เชี่ยวชาญการเกษตรของอิหร่าน สนับสนุนด้านเทคนิค ความรู้ Know-how ต่างๆ ให้แก่อิหร่าน รวมทั้งยังช่วยสร้างกองทัพและฝึกสอนด้านการทหารให้แก่กองทัพอิหร่าน ในขณะที่พระเจ้าชาห์แห่งอิหร่าน ก็ทรงตอบแทนด้วยการให้น้ำมันแก่อิสราเอล

ไม่เพียงเท่านั้น อิหร่านยังถือเป็น ‘บ้าน’ ที่มีชุมชนชาวยิวอาศัยอยู่ขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสอง นอกประเทศอิสราเอล และถึงแม้เกิดการปฏิวัติอิสลามในอิหร่านเมื่อปี 1979 แล้ว ทุกวันนี้ ยังมีชาวยิวที่ยังอาศัยอยู่ในอิหร่านมากกว่า 20,000 คน

กระทั่งเมื่อเกิดการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน เมื่อปี 1979 และพระเจ้าชาห์ เรซา ปาห์ลาวี ถูกโค่นบัลลังก์ เปลี่ยนการปกครองในอิหร่านจากระบอบกษัตริย์เป็นสาธารณรัฐ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านเปลี่ยนแปลงอย่างหนัก

ความสัมพันธ์อิสราเอล-อิหร่านเปลี่ยนไปเมื่อใด?

หลังจาก อยาตอลเลาะห์ รูฮอลเลาะห์ โคไมนี เป็นผู้นำก่อการปฏิวัติอิสลามในอิหร่านในปี 1979 แล้ว โคไมนีได้ทิ้งข้อตกลงที่อิหร่านเคยทำไว้กับอิสราเอลทั้งหมด โดยโคไมนีได้วิพากษ์วิจารณ์อิสราเอลอย่างรุนแรงที่ยึดครองดินแดนของชาวปาเลสไตน์ และค่อยๆ ยกระดับการกล่าวโจมตีอิสราเอลเพิ่มมากขึ้นๆ ซึ่งตามความเห็นของนักวิเคราะห์ชาติตะวันตกมองว่า โคไมนีมีจุดประสงค์เพื่อหวังจะชนะใจชาติอาหรับอื่นๆ

เมื่ออิสราเอลส่งกำลังทหารเข้าไปในภาคใต้ของเลบานอนในปี 1982 เพื่อแทรกแซงสงครามกลางเมืองในเลบานอน ด้านโคไมนี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านก็ได้ส่งทหารกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่านไปยังกรุงเบรุต เมืองหลวงเลบานอนเพื่อสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธนิกายชีอะห์ในพื้นที่ ซึ่งมีชื่อกลุ่มว่า ‘ฮิซบอลเลาะห์’ และเป็นกลุ่มติดอาวุธในเลบานอนที่อิหร่านให้การสนับสนุนมาจนถึงวันนี้

...

ทำ ‘สงครามตัวแทน’ กันมายาวนานหลายสิบปี

ก่อนที่อิสราเอลและอิหร่านจะเปิดหน้า ทำสงครามกันโดยตรง ด้วยการที่อิหร่านส่งโดรนติดระเบิดและยิงขีปนาวุธกว่า 300 ลูกไปโจมตีอิสราเอลอย่างโจ่งแจ้งเป็นครั้งแรกเมื่อ 13 เมษายน 2567 นั้น อิหร่านได้ทำสงครามลับๆ หรือสงครามตัวแทนกับอิสราเอลมานานหลายทศวรรษแล้ว

เป็นที่รู้กันดีว่า อิหร่านได้ให้การสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธในตะวันออกกลางหลายกลุ่มที่เป็นศัตรูกับอิสราเอล ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน กลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา และกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมน

อิสราเอลได้เปิดฉากโจมตีอิหร่าน เล็งถล่มเป้าหมายในจังหวัดอิสฟาฮาน ทางภาคกลาง ซึ่งเป็นที่ตั้งของฐานทัพอากาศสำคัญ ฐานทัพทหาร โรงงานนิวเคลียร์ และโรงงานผลิตอาวุธของอิหร่านเมื่อ 19 เมษายน 2567
อิสราเอลได้เปิดฉากโจมตีอิหร่าน เล็งถล่มเป้าหมายในจังหวัดอิสฟาฮาน ทางภาคกลาง ซึ่งเป็นที่ตั้งของฐานทัพอากาศสำคัญ ฐานทัพทหาร โรงงานนิวเคลียร์ และโรงงานผลิตอาวุธของอิหร่านเมื่อ 19 เมษายน 2567

...

อิสราเอล-อิหร่าน เปิดหน้าทำสงครามโดยตรงคร้ังแรก

ความขัดแย้งครั้งใหม่ระหว่างกลุ่มติดอาวุธในตะวันออกกลางกับอิสราเอลอุบัติขึ้น เมื่ออิสราเอลได้โจมตีฉนวนกาซา เพื่อตอบโต้ที่กลุ่มฮามาสบุกโจมตีอิสราเอลอย่างไม่ทันตั้งตัว เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตราว 1,200 ศพ และยังจับตัวประกันมาประมาณ 240 คน เมื่อ 7 ตุลาคม 2566 ในขณะที่สงครามอิสราเอลโจมตีฉนวนกาซา ทำให้จนถึงขณะนี้ มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตแล้วนับ 34,000 ศพ 

การโจมตีฉนวนกาซาอย่างไม่ยอมรามือของรัฐบาลอิสราเอลสายขวาจัด ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ที่ทำให้ชาวปาเลสไตน์ล้มตายบาดเจ็บจำนวนมาก และต้องอพยพหนีภัยสงครามกว่าล้านคนได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัส อดอยากขาดแคลนอาหารอย่างหนัก ทำให้กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ และกลุ่มกบฏฮูตีประกาศสนับสนุนกลุ่มฮามาส ฮิซบอลเลาะห์โจมตีทางภาคเหนือของอิสราเอล ส่วนกบฏฮูตีโจมตีเรือบรรทุกสินค้าในทะเลแดง เพื่อตอบโต้ที่อิสราเอลโจมตีฉนวนกาซา

กระทั่งการสู้รบระหว่างกลุ่มติดอาวุธที่อิหร่านสนับสนุนกับอิสราเอลที่ดำเนินต่อเนื่องมาหลายเดือน มาถึงจุดพลิกผันครั้งสำคัญ เมื่อเกิดเหตุสถานกงสุลอิหร่านในกรุงดามัสกัส เมืองหลวงซีเรียถูกโจมตีทางอากาศ เป็นเหตุให้นายทหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่ระดับสูงอิหร่านเสียชีวิตไป 7 ราย เมื่อ 1 เมษายน 2567

แน่นอน อิหร่านกล่าวหาว่าเหตุการณ์ร้ายแรงนี้เป็นฝีมือของอิสราเอลและประกาศจะตอบโต้อย่างแน่นอน ก่อนในที่สุด อิหร่านภายใต้การนำของอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุด ได้ ‘เปิดหน้า’ ทำสงครามกับอิสราเอล ส่งโดรนและยิงขีปนาวุธกว่า 300 ลูก ไปโจมตีอิสราเอลโดยตรงเป็นครั้งแรกเมื่อ 13 เมษายน ที่ผ่านมา แต่ระบบป้องกันภัยทางอากาศของอิสราเอลและชาติพันธมิตรก็สามารถสกัดโดรนและขีปนาวุธของอิหร่านได้เกือบทั้งหมด

...

ทว่าเหตุการณ์รุนแรงระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านไม่ได้จบเพียงเท่านี้ เพราะอิสราเอลซึ่งประกาศจะเอาคืน ได้เปิดฉากตอบโต้ โจมตีอิหร่านแล้ว เมื่อช่วงเช้าวันที่ 19 เมษายน จนทำให้สถานการณ์ทวีความตึงเครียดหนัก และกำลังก่อความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามในตะวันออกกลางอย่างยิ่ง 

ผู้เขียน : อรัญญา ศรีจันทรนิตย์

ที่มา : DW,BBC