- นับเป็นเหตุการณ์ที่น่าสะพรึง เมื่อเมืองทะเลทรายอย่างดูไบ ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ต้องจมอยู่ใต้น้ำ หลังจากฝนตกหนัก โดยปริมาณฝนที่ตกในวันเดียวสูงกว่าปริมาณฝนที่ตกรวมกัน 2 ปี
- หลายฝ่ายต่างมองหาสาเหตุที่ทำให้เกิดความแปรปรวนของสภาพอากาศเช่นนี้ โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่าปริมาณฝนที่มากผิดปกติ อาจจะเกี่ยวข้องกับกระบวนการเพาะเมฆที่ยูเออีดำเนินการต่อเนื่องมานานหลายปีแล้ว
- โดยกระบวนการเพาะเมฆเป็นโครงการที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เริ่มดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2002 เพื่อหวังจะแก้ปัญหาความแห้งแล้งที่มีมายาวนาน
ข่าวน้ำท่วมจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนักในดูไบ ได้สร้างความตื่นตกใจให้แก่ผู้คนที่ติดตามข่าวสาร เนื่องจากไม่คาดคิดว่าเมืองทะเลทรายอย่างดูไบจะถูกน้ำท่วมจนเกิดผลกระทบเป็นวงกว้างแบบนี้ได้
โดยการสัญจรทั้งทางบก ทางอากาศ ต้องกลายเป็นอัมพาต ขณะที่ภาพในโลกโซเชียลก็เผยให้เห็นภาพมวลน้ำจำนวนมากปกคลุมไปทั่วทั้งเมือง ทั้งสนามบินนานาชาติ รวมทั้งถนนหลวงสายสำคัญ โดยจากการเปิดเผยตัวเลขปริมาณฝนล่าสุด พบว่าปริมาณฝนตกในช่วง 24 ชั่วโมง หรือ 1 วัน มีปริมาณมากกว่าฝนที่ตกในพื้นที่ตลอดช่วง 2 ปี เลยทีเดียว
...
หลายฝ่ายต่างมองหาสาเหตุที่ทำให้เกิดความแปรปรวนของสภาพอากาศเช่นนี้ โดยผู้เชี่ยวชาญมีการตั้งข้อสังเกตว่าปริมาณฝนที่มากผิดปกตินี้ ส่วนหนึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับกระบวนการเพาะเมฆที่ยูเออีดำเนินการต่อเนื่องมานานหลายปีแล้ว
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ตั้งอยู่บนภูมิภาคที่ร้อนที่สุด และแล้งที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทำให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญต้องใช้เทคโนโลยีเพาะเมฆเพื่อเพิ่มปริมาณหยาดน้ำฟ้า หรือปริมาณฝนมานานกว่า 23 ปีแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็ยังคงมีปริมาณฝนเฉลี่ยน้อยกว่า 100 มิลลิเมตรต่อปีอยู่ดี
สำหรับวัตถุประสงค์หลักของการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ ก็เพื่อที่จะเพิ่มปริมาณน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของประชากรที่กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกที รวมทั้งเพื่อเอื้อต่อระบบเศรษฐกิจ เช่น การท่องเที่ยว โดยในช่วงฤดูร้อนของยูเออี อาจมีอุณหภูมิสูงถึง 50 องศาเซลเซียส เนื่องจากภูมิประเทศกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ เป็นภูมิประเทศแบบทะเลทราย ดังนั้นความร้อนจัดอาจทำให้ปัญหาการขาดแคลนน้ำรุนแรงขึ้น และพืชผลทางการเกษตรไม่สามารถเจริญเติบโตได้
นอกจากยูเออีแล้ว ประเทศอื่นในภูมิภาคอย่างซาอุดีอาระเบียและโอมาน ก็มีการนำเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันมาใช้เพิ่มปริมาณฝนในประเทศตัวเองเช่นเดียวกัน
การเพาะเลี้ยงเมฆคืออะไร?
การเพาะเลี้ยงเมฆ หรือที่คนไทยมักจะรู้จักในชื่อของฝนเทียม เป็นเทคนิคการปรับเปลี่ยนสภาพอากาศที่มุ่งกระตุ้นการตกตะกอน และดัดแปรเสถียรภาพของมวลอากาศให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ทั้งในด้านความกว้างและความสูง รวมทั้งเพิ่มปริมาณและขนาดของเม็ดน้ำในก้อนเมฆ โดยนักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ใช้วิธีการหลายอย่างในภารกิจเพาะเลี้ยงเมฆ ทั้งใช้เครื่องบินหรือเฮลิคอปเตอร์ยิงพลุเกลือดูดความชื้นบนท้องฟ้า โดยปล่อยอนุภาคนาโนของเกลือ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ออกไปสู่ก้อนเมฆ เพื่อกระตุ้นและเร่งกระบวนการควบแน่นเพื่อสร้างหยดน้ำที่มีขนาดใหญ่พอที่จะตกลงมาเป็นสายฝน
อย่างไรก็ตาม การเพาะเมฆจะประสบความสำเร็จได้ ต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ ประกอบกัน ทั้งความชื้นในเมฆ และรูปแบบของลมที่เหมาะสม
โดยจุดมุ่งหมายหลักก็คือการทำให้เกิดฝนตกในภูมิภาคที่มีสภาพแห้งแล้ง เพื่อช่วยด้านการเกษตร สภาพแวดล้อม และการบริหารจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำ
...
การเพาะเมฆเป็นสาเหตุของน้ำท่วมใหญ่ได้หรือไม่?
เนื่องจากการเพาะเมฆ หรือการทำฝนเทียม เป็นกระบวนการที่จะทำให้เกิดฝนตกเพิ่มขึ้นได้ ในอีกแง่หนึ่งก็อาจจะเป็นความเสี่ยงได้เช่นกัน
โดยปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่หนึ่งอาจถูกเบี่ยงเบนไป ทำให้เกิดความแห้งแล้งในพื้นที่อื่น โดยหากพื้นที่ที่มีการเพาะเมฆ ไม่ได้มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สร้างมาเพื่อรองรับกับน้ำฝนที่เพิ่มขึ้น ก็อาจจะทำให้เกิดน้ำท่วม และทำให้เกิดความเสียหายขึ้นได้
อย่างในประเทศเพื่อนบ้านแบบโอมาน ก็มีรายงานผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 18 ศพ เมื่อไม่กี่วันก่อน หลังจากเกิดฝนตกหนักจนทำให้น้ำท่วม ซึ่งโอมานก็มีการใช้เทคนิคการเพาะเลี้ยงเมฆเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ด้วยเช่นกัน
ในขณะเดียวกันตามหลักวิทยาศาสตร์ การใช้สารเคมีซิลเวอร์ ไอโอไดด์ ก็ส่งผลกระทบระยะยาวต่อระบบนิเวศวิทยาด้วยเช่นกัน
โดยวิธีการนี้อาจนำไปสู่การเป็นกรดของมหาสมุทรได้ การสูญเสียชั้นโอโซน และจะเพิ่มระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ เนื่องจากสารเคมีซิลเวอร์ เป็นโลหะหนักและเป็นพิษ สามารถทำอันตรายให้แก่พืช มนุษย์ รวมทั้งสัตว์ได้อีกด้วย
...
อย่างไรก็ตาม ศูนย์อุตุนิยมวิทยาแห่งชาติ หรือ NCM ในกรุงอาบูดาบี ซึ่งมีหน้าที่ในการสร้างฝนเทียมของรัฐบาล ยืนยันว่าการทำฝนเทียมของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะใช้เกลือธรรมชาติเป็นหลัก ไม่ได้ใช้สารเคมีซิลเวอร์ ไอโอไดด์ แต่อย่างใด การเพาะเมฆ หรือการทำฝนเทียม จึงไม่น่าจะส่งผลเสียต่อสภาวะแวดล้อม ส่วนจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดฝนตกหนักมากผิดปกติหรือไม่ ยังไม่มีการยืนยันในเรื่องนี้ แต่ยอมรับว่าในช่วง 2 วันก่อนหน้านี้ มีการนำเครื่องบินขึ้นบินในภารกิจทำฝนเทียมถึง 7 ครั้ง.
ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล
ที่มา : indiatoday, bloomberg
คลิกอ่านข่าวรายงานพิเศษ special content
...