ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย รับเป็นโยมอุปัฏฐากสำนักสงฆ์ป่าช้าบ้านด่าน-ตาไทย อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ ขณะนี้สำนักสงฆ์ฯ จะสร้างเมรุและซื้อเตาเผาศพ ท่านใดจะร่วมทำบุญเชิญได้ที่ ธ.ก.ส. บัญชีเลขที่ 020231705553 ชื่อบัญชี ‘กองบุญซื้อเตาเผาศพและสร้าง เมรุเผาศพ สำนักสงฆ์ป่าช้าบ้านด่านตาไทย’ ขออนุโมทนาบุญครับ
คณะอยู่ในภูมิภาคไซบีเรียของรัสเซียเข้าวันที่ 6 อังคารวันนี้ 16 เมษายน 2024 เราใช้เวลา 2 ชั่วโมง นั่งเครื่องจากเมืองครัสโนยาสค์ไปยังบาร์นาอูล เมืองในภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ของไซบีเรีย อยู่แถบเทือกเขาอัลไตซึ่งเป็นเทือกเขาที่ทอดยาวเป็นพรมแดนร่วมของรัสเซีย จีน มองโกเลีย และคาซัคสถาน เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำอีร์ติชและแม่น้ำอ็อบ
บาร์นาอูลเป็นทั้งชุมชนชีวินวิทยา ในขณะเดียวกันก็เป็นเมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เป็นศูนย์กลางการศึกษาและเป็น ศูนย์กลางการปกครองของดินแดนแถบเทือกเขาอัลไต บาร์นาอูลนี้มีมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง Altai State University น่าเสียดายที่เราไม่ได้ส่งนักเรียนไทยมาเรียนที่นี่ ใครก็ตามที่จบจากมหาวิทยาลัยอัลไตสเตทจะมีเครือข่ายอย่างแน่นหนามั่นคงในภูมิภาคไซบีเรีย โดยเฉพาะอาชีพวนกรหรือนักการป่าไม้ที่ชำนาญในเรื่องของทุนทรัพย์ป่าไม้ เศรษฐศาสตร์ป่าไม้ การคลังป่าไม้ และสุขศาสตร์ป่าไม้
รัสเซียแบ่งเขตเศรษฐกิจเป็น 12 เขต เขตที่เรามาตระเวนในช่วงนี้เป็นเขตเศรษฐกิจไซบีเรียตะวันออก ประกอบไปด้วยที่ราบสูง ภูเขา และแอ่งแม่น้ำ เมืองใหญ่ๆก็เอียร์คุตสค์ ครัสโนยาสค์ ทั้ง 2 เมือง ตั้งอยู่ริมทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรีย สถานีพลังน้ำขนาดใหญ่อยู่ที่บราตสค์ แถบนี้มีทั้งถ่านหิน ทองคำ แกรไฟต์ เหล็ก อะลูมิเนียมเยอะมาก
เขตเศรษฐกิจไซบีเรียตะวันออก ประกอบไปด้วยสาธารณรัฐตูวา สาธารณรัฐคาคัสเซีย จังหวัดเอียร์คุตสค์ และจังหวัดครัสโนยาสค์
...
หลายท่านอยากทราบเรื่องเส้นทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรีย เส้นทางสายนี้มีความยาว 9,289 กิโลเมตร เป็นทางรถไฟที่ยาวที่สุดในโลก แล่นจากกรุงมอสโกซึ่งอยู่ทางตะวันตกของประเทศไปเมืองวลาดิวอสตอกซึ่งอยู่ทางตะวันออก เชื่อมมอสโกกับวลาดิวอสตอก สำเร็จเมื่อ ค.ศ.1916 ตั้งแต่ ค.ศ.2021 ก็เริ่มสร้างทางรถไฟเชื่อมประเทศเพื่อนบ้าน มองโกเลีย จีน และเกาหลีเหนือ รถไฟวิ่งผ่าน 8 เขตเวลา ถ้าใช้เวลาวิ่งโดยไม่หยุดเลยจะใช้เวลา 8 วัน แต่ถ้าจะวิ่งจากมอสโกไปเปียงยาง เมืองหลวงเกาหลีเหนือ ระยะทาง 10,267 กิโลเมตร สมัยก่อนสงครามรัสเซีย-อูเครน มีเส้นทางคีฟ เมืองหลวงอูเครนไปวลาดิวอสตอก ระยะทาง 11,085 กิโลเมตร
ใครจะขึ้นรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรียหลักต้องไปขึ้นที่ยาโรสลาฟสกี วัคซัล (สถานีรถไฟไปยาโรสลาฟ) ซึ่งอยู่ในกรุงมอสโก รถไฟ จะแล่นไปเรื่อยๆผ่านเมืองอ็อมส์ โนโวซิบิสค์ ครัสโนยาสค์ เอียร์คุตสค์ อูลาน-อูเด ชิตา คาบารอฟสค์ และไปสิ้นสุดที่วลาดิวอสตอก
สายที่สองของรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรียเรียกว่า สายทรานส์ -แมนจูเรีย ส่วนสายที่สามคือสายทรานส์-มองโกเลีย ซึ่งสายนี้สามารถวิ่งต่อไปถึงกรุงอูลานบาตอร์เมืองหลวงของมองโกเลียและไปถึงกรุงปักกิ่งของจีนได้ สายที่สี่ สายไบคาล-อามูร์
ผมเคยรู้จักคนจีนที่ไปเรียนที่กรุงมอสโกรุ่นเมื่อ 30 ปีที่แล้ว จบมาแล้วก็ทำธุรกิจกับรัสเซีย รัสเซียกว้างใหญ่ไพศาล ชาวจีนผู้นี้ เลือกค้าขายเฉพาะไซบีเรียซึ่งมีทรัพยากรมากแต่มีประชากรน้อยคนไม่ค่อยเข้าไป อาจจะเพราะความหนาว ความยากลำบากในการเดินทางและใช้ชีวิต (ในสมัยเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว ซึ่งทั้งรัสเซียและจีนยังเป็นประเทศที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ)
ก่อนยุคปูติน ไซบีเรียเป็นดินแดนที่พัฒนาไม่มากนัก แต่ในยุคปูติน รัสเซียเข้มแข็ง เศรษฐกิจดี ภูมิอากาศของโลกร้อนขึ้นทำให้แผ่นดินไซบีเรียสามารถปลูกพืชผักผลไม้ได้เพิ่มขึ้น มีการค้นพบและส่งออกทรัพยากรธรรมชาติมากมายหลายอย่าง ทราบว่า ภายหลังชาวจีนผู้มุ่งมั่นไซบีเรีย มีสถานะทางเศรษฐกิจที่มั่นคงมาก มั่นคงด้วยทรัพยากรธรรมชาติของไซบีเรีย.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com
คลิกอ่านคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” เพิ่มเติม