ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย ไปสหภาพโซเวียตครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1991 พอถึง ค.ศ.1993 พ่อผมก็ส่งนักเรียนไทย 3 คนไปเรียนที่เอียร์คุตสค์ เมืองหลวงของจังหวัดเอียร์คุตสค์ ไซบีเรีย และส่งนักเรียนไทย 8 คนไปเรียนที่ซามารา เมืองหลวงของซามาราโอบลาสต์ เมืองบนฝั่งแม่น้ำวอลกา ใน 8 คนนี้ เรียนแพทย์ 3 คน เรียนวิศวกรรมการบินและยานอวกาศ 5 คน ศิรธันย์ แสงสินธุศร (กอล์ฟ) เป็นนักเรียนไทยเมื่อ 31 ปีที่แล้ว ได้รับการสนับสนุนจากพ่อให้ไปเรียนจนจบด้านวิศวกรรมจากเมืองซามารา

10-21 เมษายน 2024 อดีตศิษย์เก่ารัสเซีย 2 คนคือ ศิรธันย์และพ่อผมได้รับเชิญจาก รศ.ทรงกลด จารุสมบัติ อาจารย์ประจำภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน ให้ร่วมคณะสำรวจป่าไม้ในภูมิภาคไซบีเรียของรัสเซีย การเดินทางในครั้งนี้ มีบริษัทไม้ โรงไม้และเฟอร์นิเจอร์ของไทยไปด้วย 8 บริษัท

รัสเซียมีพื้นที่มากเป็นอันดับ 1 ของโลกถึง 17 ล้าน ตร.กม. เฉพาะไซบีเรียมีพื้นที่มากถึง 12.9 ล้าน ตร.กม. มีพื้นที่ป่ากว่า 8 ล้าน ตร.กม. พื้นที่ป่าที่อยู่ติดต่อกันใหญ่กว่าพื้นที่ไทยทั้งประเทศ 15 เท่า เต็มไปด้วยไม้ที่มีอายุมากกว่าร้อยปี ต้นไม้อยู่เบียดเสียดกันหนาแน่น ถ้าไม่ตัดไม้ ต้นใหม่ก็ไม่สามารถจะงอกแทรกขึ้นมาได้

คณะบินจากกรุงเทพฯมาเมืองเอียร์คุตสค์ จากเมืองเอียร์คุตสค์ใช้เวลาเพียงชั่วโมงกว่าก็บินถึงเมืองบราตสค์ คณะเข้าไปอยู่ในป่าและโรงไม้ที่มีความชำนาญในไม้อังการาไพน์และไซบีเรียนลาร์ช ที่เข้าไปศึกษาดูงานและเจรจาธุรกิจ ด้วยเป็นโรงไม้ที่ใหญ่ที่สุดที่ผลิตไม้ส่งไปยัง 7 ประเทศและ 20 เมืองหลักของรัสเซีย

เมืองบราตสค์ตั้งอยู่ริมแม่น้ำอังการา แม่น้ำสายนี้ตั้งต้นจากทะเลสาบไบคาลไหลขึ้นทางเหนือผ่านเมืองเอียร์คุตสค์ลงสู่แม่น้ำเยนีเซย์ ทั้งสายมีความยาว 1,852 กม. สามารถเดินเรือได้ตลอด มีพื้นที่ลุ่มน้ำกว้างขวางถึง 1,036,000 ตร.กม. (ใหญ่กว่าพื้นที่ของไทยทั้งประเทศเกือบ 2 เท่า) แควหลักๆของแม่น้ำอังการาคือแม่น้ำโอคาและแม่น้ำอีลิม

...

สองฝั่งของแม่น้ำอังการาเป็นป่าทึบ บางแห่งเป็นเมืองขนาดเล็กที่ใช้เรือในการคมนาคมขนส่ง ไซบีเรียมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล การเดินทางไปแต่ละจุดต้องใช้เวลานาน คณะของเราไม่เดินทางด้วยเรือเพราะเรือช้า เครื่องบินก็มีเป็นบางเมือง คณะจึงใช้รถไฟเป็นหลัก เมื่อ 14 เมษายน คณะขึ้นรถไฟตั้งแต่เช้า รถไฟแล่นจากเมืองบราตสค์ไปยังครัสโนยาสค์ เมืองหลวงของครัสโนยาสค์ที่ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำเยนีเซย์ตอนบน

เมืองครัสโนยาสค์ตั้งอยู่บนเส้นทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรีย ห่างจากโนโวซีบีสค์ไปทางทิศตะวันออก 636 กม. เป็นเมืองที่มีกิจการไม้แปรรูปที่ใหญ่โตมโหฬาร นอกนั้นก็มีอุตสาหกรรมโลหะและอุตสาหกรรมการต่อเรือ รถไฟออกจากเมืองบราตสค์์ตั้งแต่ 08.22 น. แล่นทั้งวันและคืน ถึงเมืองครัสโนยาสค์เกือบตีสอง พอตอนเช้า 15 เมษายน คณะต้องนั่งรถอีก 310 กม. ไปยังหมู่บ้านราสส์เวท ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทผลิตไม้ที่นำไม้ไซบีเรียเหนือมาพัฒนาและส่งออก

พื้นที่รัสเซียใหญ่โตมโหฬาร จนต้องแบ่งเขตเวลาเป็น 11 เขต ขณะที่ตะวันออกสุดคือเมืองคัมชัทคาเวลา 14.48 น. ครัสโนยาสค์ 09.00 น. มอสโก 05.00 น. ตะวันตกสุดคือคาลินินกราด 04.00 น. ความแตกต่างกันของพื้นที่ก็มีมาก ถ้าเป็นเรื่องเศรษฐกิจ รัสเซียแบ่งเขตเศรษฐกิจออกเป็น 12 เขต เช่น เขตเศรษฐกิจกลาง อยู่ในโซนยุโรป (ประชากร 32 ล้าน) เขตเศรษฐกิจเชียร์โนซอมกลาง ซึ่งอยู่ในโซนยุโรปเช่นกัน (7 ล้าน) เขตเศรษฐกิจไซบีเรียตะวันออก (6 ล้าน) เขตเศรษฐกิจตะวันออกไกล (6 ล้าน) เขตเศรษฐกิจคาลินินกราด (1 ล้าน) เขตเศรษฐกิจคอเคซัสเหนือ (22 ล้าน) เขตเศรษฐกิจเหนือ (4 ล้าน) เขตเศรษฐกิจตะวันตกเฉียงเหนือ (8 ล้าน) เขตเศรษฐกิจอูรัล (18 ล้าน) เขตเศรษฐกิจวอลกา (15 ล้าน) เขตเศรษฐกิจวอลกา-เวียตคา (7 ล้าน) และเขตเศรษฐกิจไซบีเรียตะวันตก (14 ล้าน)

พรุ่งนี้มารับใช้ต่อครับ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com

คลิกอ่านคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” เพิ่มเติม