เมื่อ 22–27 ล้านปีก่อน ว่ากันว่าดินแดนที่เป็นนิวซีแลนด์ในปัจจุบัน เคยจมลงอยู่ใต้น้ำทะเลเกือบทั้งหมด โดยเหลือพื้นที่เพียง 1% อยู่เหนือระดับน้ำทะเล ในเวลานั้นเป็นช่วงที่สิ่งมีชีวิตในทะเลเจริญเติบโต เมื่อเวลาผ่านไป ซากสัตว์โบราณยุคนั้นก็ทับถมมากมาย โดยเฉพาะในหุบเขา Hakataramea ทางตอนใต้ของรัฐแคนเทอร์บิวรี

เมื่อเร็วๆนี้ นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยโอทาโก ระบุว่าค้นพบสายพันธุ์ใหม่ของโลมาโบราณ ซึ่งซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลกะโหลกศีรษะ ฟัน กระดูกหู กรามล่าง กระดูกสันหลัง และซี่โครงของมันถูกค้นพบเมื่อหลายปีก่อน ในหุบเขา Hakataramea และซากฟอสซิลได้กลายเป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาในโอทาโก นักบรรพชีวินตั้งชื่อโลมาชนิดนี้ว่า Aureia rerehua และเผยว่ามันอาศัยอยู่ในทะเลยุคโอลิโกซีน เมื่อประมาณ 22 ล้านปีก่อน พร้อมบรรยายลักษณะว่ามีขนาดตัวยาวราว 2 เมตร ฟันคล้ายกรงที่อาจใช้ล้อมกักปลาตัวเล็กๆ กะโหลกศีรษะที่ไม่แข็งแรงและคอที่ยืดหยุ่น ทำให้สามารถล่าเหยื่อในน้ำตื้นได้

โดยทั่วไปแล้วโลมามักจะมีฟันขนาดใหญ่ที่ด้านหน้าและตรงกลางปากจะเป็นเครื่องมือหลักในการจับเหยื่อ หรือแทงปลาชนิดอื่นๆที่เคราะห์ร้ายมาเป็นเหยื่อของมัน แต่ Aureia rerehua ดูเหมือนว่าจะใช้ฟันในลักษณะที่แตกต่างและละเอียดอ่อนมากกว่า.

(The Aureia rerehua fossil. Credit : University of Otago)

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่