ตอนยังหนุ่มยังแน่นอยู่ “วอเรน บัฟเฟตต์” มักบอกผู้ถือหุ้นที่อยากรู้อยากเห็นทั้งหลายว่าหากเกิดอะไรขึ้นกับเขา คนที่จะเข้ามากุมบังเหียน “เบิร์กเชียร์ ฮาธาเวย์” แทนทันที ก็คือ “ชาร์ลี มังเกอร์” คู่หูคู่คิดนักลงทุนที่ท่องยุทธจักรด้วยกันมาหลายทศวรรษ แต่เมื่อเวลาผ่านไปและมีอายุมากขึ้น กลับเป็น “มังเกอร์” ที่บ่ายเบี่ยงการตอบคำถามเกี่ยวกับการหาผู้สืบทอด โดยย้ำเสมอว่า เขาและบัฟเฟตต์ไม่ได้หมกมุ่นอยู่กับการมองหาตัวตายตัวแทนเลย เพราะบัฟเฟตต์วางแผนจะมีชีวิตอยู่จนเกือบชั่วกัปชั่วกัลป์

เมื่อผู้ถือหุ้นบางคนรบเร้าต่อว่าแล้วใครจะมาเป็น “ชาร์ลี มังเกอร์” คนต่อไป ปู่มังเกอร์ตอบว่า “ไม่ค่อยมีอุปสงค์ตรงนี้เท่าไหร่” ตอนที่เขาจากโลกนี้ไปแล้ว ถ้าคนถามว่า “ชาร์ลีคุณทิ้งเงินเอาไว้เท่าไหร่” คำตอบคือ “หมอนั่นทิ้งไว้ทั้งหมดนั่นแหละ” นี่คือสัจธรรมโลก...ตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้

แม้ปู่มังเกอร์จะอาศัยห่างออกไปแค่ไม่กี่บล็อกจากบ้านของครอบครัวบัฟเฟตต์ในเมืองโอมาฮา และตอนวัยรุ่นเคยทำงานในร้านค้าของครอบครัวบัฟเฟตต์ แต่ด้วยอายุที่ห่างกัน 6 ปี ทำให้พวกเขาไม่เคยโคจรมาพบกันก่อนที่โชคชะตาจะนำพา

คุณปู่ทั้งสองมีสิ่งที่เหมือนกันหลายอย่างจนน่าทึ่ง โดยมังเกอร์ยอมรับว่า “ผมก็เหมือนกับวอเรนที่มีความปรารถนาแรงกล้าที่จะรวยให้ได้ไม่ใช่เพราะผมต้องการรถหรูเฟอร์รารี่หลายๆคัน แต่ผมต้องการอิสรภาพต่างหาก ผมกระหายอยากได้มัน ผมคิดว่ามันน่าอายที่ต้องมานั่งส่งใบแจ้งหนี้ให้คนอื่นอยู่เรื่อยๆ ผมไม่รู้ว่าได้ความคิดนี้มาจากไหน แต่คิดแบบนี้ตั้งแต่จำความได้”

...

ก็เหมือนกับบัฟเฟตต์ “ชาร์ลี มังเกอร์” ไม่ได้รับสืบทอดความมั่งคั่งใดๆมาเลย พวกเขาสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาจากความมุ่งมั่นและความชาญฉลาดด้านการลงทุน ปู่มังเกอร์มักจะได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในผู้นำทางธุรกิจที่ฉลาดที่สุด เป็นเซียนวางกลยุทธ์ที่เหนือเมฆ แต่เขามักถ่อมตัวว่า เป้าหมายของผมคือการอยู่ต่ำกว่าระดับความมั่งคั่งที่จะทำให้ถูกใส่ชื่อลงไปในทำเนียบมหาเศรษฐีฟอร์บส์นิดหนึ่ง เพราะมันจะช่วยให้ผมได้ยืนอยู่นอกแสงไฟ

“แม้ไม่ได้มีเงินมีทองตกทอดมาถึง แต่ครอบครัวผมก็ได้ให้การศึกษาที่ดีกับผม และเป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมว่าควรประพฤติตัวอย่างไร ซึ่งสิ่งนั้นมีค่ามากกว่าเงินซะอีก การถูกฟูมฟักมาท่ามกลางค่านิยมที่ถูกต้องตั้งแต่เล็กแต่น้อยถือเป็นขุมทรัพย์อันมีค่ามหาศาล วอเรนเองก็ได้รับสิ่งนั้นมา และยังนับเป็นข้อได้เปรียบทางการเงินด้วย”

อีกหนึ่งสิ่งที่เหมือนกันที่สุดของคุณปู่ทั้งสองคือ “อารมณ์ขันอันล้นเหลือ” ตามสไตล์ชาวมิดเวสต์ พวกเขาเรียนรู้ที่จะอดทนต่อความไม่สะดวกสบาย, ความเครียด, ความไม่เป็นดังใจหวัง และความโศกเศร้า ด้วยการเล่นมุกตลกเยียวยาจิตใจ

เหมือนกับที่ปู่มังเกอร์มักมองว่านิสัยเรื่องอาหารการกินของปู่บัฟเฟตต์นั้นดูตลก ปู่บัฟเฟตต์เองก็เข้าใจลักษณะนิสัยของปู่มังเกอร์ที่แปลกประหลาดเช่นกัน ซึ่งเป็นที่ร่ำลือถึงความโผงผาง, ปุบปับ และพูดจาขวานผ่าซากไม่ไว้หน้าใคร

“ชาร์ลีเป็นเพื่อนที่ดีมาก ถึงไม่มีความอ่อนโยนแต่ทั้งหมดนั่นเป็นของจริง เราไม่เคยเถียงกันสักครั้งเดียว เราคิดเห็นไม่ตรงกันในบางครั้ง และทำหลายๆสิ่งร่วมกัน แต่ไม่เคยมีสักครั้งที่เราโกรธกัน หรือกวนประสาทกัน ถ้าชาร์ลีมีเหตุผลที่เหนือกว่า เขาจะไม่ยอมใครทั้งนั้น เราต่างคิดว่าอีกฝ่ายควรค่าแก่การตั้งใจฟัง”

แม้จะได้รับการยกย่องเป็นพ่อมดผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ “เบิร์กเชียร์ ฮาธาเวย์” มาหลายทศวรรษ และสร้างตำนานในแบบฉบับของตัวเองให้โลกจดจำ แต่ปู่มังเกอร์ยืนกรานเสมอว่า “ชีวิตผมไม่ใช่เรื่องยิ่งใหญ่อะไรนัก อาจเล่ายืดยาวได้แต่คงน่าเบื่อสักหน่อย การจะเป็นที่หนึ่งให้ได้ คุณต้องจัดการตัวเองให้เรียบร้อยก่อน อย่าเอาตัวเข้าไปอยู่ในจุดที่จะทำให้ชีวิตถอยหลัง ผมเป็นชายคนหนึ่งที่มีคุณปู่เป็นทั้งนักกฎหมายและอัยการ ผมเข้าเรียนโรงเรียนกฎหมายฮาร์วาร์ดทันทีหลังจบสงครามโลก ผมตั้งใจอยากทำธุรกิจที่แตกต่างกันหลายอย่าง และมักจะเข้าไปในธุรกิจของกัลยาณมิตร แต่ดันทำได้ดีกว่าเขาซะงั้น เพราะอะไรนะเหรอ ก็เพราะรู้จักเรียนรู้ด้วยตัวเองไม่หยุด และหมั่นฝึกวินัยทางความคิด ก็อย่างที่วอเรนพูดไว้ว่า ถ้ามันน่าเบื่อล่ะก็ คุณมาถูกทางแล้ว”

ปู่ไม่เคยสนใจเปรียบเทียบความรวยตัวเองกับเงินของผู้อื่น แต่แรงจูงใจในการสะสมความมั่งคั่งมักเกี่ยวโยงกับการมีอิสรภาพในการทำสิ่งที่ปรารถนาโดยไม่ต้องง้อใคร.

มิสแซฟไฟร์

คลิกอ่านคอลัมน์ “คนดังอะราวนด์เดอะเวิลด์” เพิ่มเติม