เข้าเดือน เม.ย.ตอนนี้หลายคนคงบ่นอุบว่าร่างกายก็เหมือนกับ “อาบเหงื่อต่างน้ำ” เพราะอุณหภูมิร้อนเหลือหลาย ทางแก้หนึ่งที่รู้กันทั้งโลกก็คือการ “ปลูกต้นไม้” ที่ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะต้นไม้จะช่วยดูดซับคาร์บอน เพิ่มปริมาณออกซิเจน และลดโลกร้อน
แน่นอนว่าการฟื้นฟูป่าไม้ก่อให้เกิดประโยชน์นานัปการต่อประชากร ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์รวมถึงโลก ไม่ว่าจะเป็นการค้ำจุนระบบนิเวศ การนำมาซึ่งอากาศและน้ำที่สะอาด และอื่นๆอีกมากมาย อีกทั้งปัจจุบัน หลายประเทศให้คำมั่นว่าจะปลูกต้นไม้หลายพันล้านต้น เพื่อเป็นปราการป้องกันภาวะโลกร้อน
แต่ไม่ใช่ว่าทุกความพยายามเกิดประโยชน์ต่อโลกได้เทียบเท่ากัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยทั้งเงิน เวลา ทรัพยากร คน รวมถึงเมล็ดพันธุ์ และสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงคือ “บางพื้นที่ การฟื้นฟูพื้นการปกคลุมของต้นไม้ ดันทำให้โลกร้อนขึ้นแทนที่จะทำให้โลกเย็นลง”
เมื่อเร็วๆนี้มีบทความชิ้นหนึ่งลงเผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ คอมมูนิเคชันส์ (Nature Communications) โดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคลาร์ก ในสหรัฐอเมริกา องค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติ (The Nature Conservancy) และสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิสในซูริก สวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่าการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะหรือปลูกผิดที่ สามารถทำให้เกิดภาวะโลกร้อนได้ เพราะเมื่อต้นไม้มีจำนวนมากขึ้น นั่นหมายถึงแสงแดดจากดวงอาทิตย์จะสะท้อนกลับจากพื้นผิวโลกน้อยลง โลกก็จะดูดซับความร้อนมากยิ่งขึ้น
นักวิทยาศาสตร์เผยว่าการฟื้นฟูพื้นที่ปกคลุมด้วยต้นไม้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของแอลบีโด (albedo) ซึ่งเป็นปริมาณรังสีดวงอาทิตย์ที่สะท้อนกลับจากพื้นผิวโลก จึงจัดเตรียมเครื่องมือที่จะช่วยคนทำงานสามารถใช้เพื่อพิจารณาว่าแอลบีโดมีปัญหามากเพียงใดสำหรับโครงการปลูกป่า หรือการปลูกป่าทั่วโลกรวมถึงทำแผนที่สถานที่ “ที่ดีที่สุด” สำหรับการปลูกต้นไม้หรือปลูกป่าเพื่อจะช่วยให้โลกเย็นลง
...
โดยยังอธิบายอีกว่า ค่าแอลบีโดนั้นสูงที่สุดในพื้นที่ที่เป็นน้ำแข็งของโลก โดยหิมะและน้ำแข็งที่สะอาดก็เปรียบเหมือนกระจก ซึ่งมีแอลบีโดในระดับสูง สามารถสะท้อนแสงอาทิตย์ได้มากถึง 90%
นักวิทยาศาสตร์หวังว่าแผนที่ใหม่จะทำให้สามารถพิจารณาถึงผลการระบายความร้อนจากต้นไม้ และภาวะโลกร้อนที่เกิดจากค่าแอลบีโดที่ลดลง เพราะยิ่งค่าแอลบีโดลดลง นั่นแสดงว่าโลกสะท้อนแสงอาทิตย์กลับออกไปลดลง อุณหภูมิพื้นผิวโลกก็สูงขึ้น...แต่ตอนนี้ก็ยังต้องร้อนตับแตกกันไปก่อน!
ภัค เศารยะ