สถานการณ์ความขัดแย้งในยูเครน เป็นเครื่องตอกย้ำอีกครั้งถึงความจำเป็นของ “กองทัพ” ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของกำลังพล และเทคโนโยลีอาวุธยุทโธปกรณ์
แต่ยังรวมถึงความพร้อมของระบบ “โลจิสติกส์” หลังแนวรบ เพราะรูปการณ์ในขณะนี้บ่งชี้ได้ว่า กองทัพยูเครนกำลังเสียเปรียบอย่างหนัก เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯยังติดหล่มการเมือง ไม่สามารถผ่านงบประมาณสนับสนุนยูเครนได้ ซึ่งกรณีนี้ย่อมหมายความว่า ยูเครนจะไม่ได้รับอาวุธและกระสุนใหม่แต่อย่างใด
ความจริงแล้วยูเครนมีอุตสาหกรรมการผลิตอาวุธที่เข้มแข็ง ไทยก็เคยสั่งซื้อรถถังที-84 โอพล็อตมาใช้งาน แต่ศึกที่ดำเนินมากว่า 2 ปี ทำให้โรงงานอยู่สภาพบอบช้ำถูกรัสเซียทิ้งบอมบ์อยู่ตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องพึ่งยุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯและนาโต อย่างที่มีรายงานว่า ยูเครนตอนนี้ไม่ต่างกับกองทัพนาโต แทบไม่มีอาวุธของตัวเอง
กระนั้น ปัญหาที่ตามมาคือเรื่องระยะเวลา ชาติตะวันตกอาจคึกคักกันในทีแรก เรื่องการสนับสนุนยูเครนอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู แต่พอเวลาผ่านหลักปีไปก็เริ่มหืดขึ้นคอ เพราะเอาเข้าจริงหลังบ้านของตัวเองก็ใช่จะเข้มแข็งอย่างที่คิด กำลังการผลิตกระสุนอาวุธยุทโธปกรณ์ไม่เพียงพอต่อปริมาณการใช้งานจริงในสนามรบ ซึ่งแน่นอนว่าที่ผ่านมา ชาติตะวันตกไม่เคยอยู่ในจุดนี้ เพราะเคยรบแต่กับกองกำลังติดอาวุธ กลุ่มก่อการร้าย ในประเทศโลกที่สาม
หากย้อนอดีตกลับไปในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ระบบโลจิสติกส์ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยชี้วัดของสงครามเช่นกัน กองทัพเยอรมนีที่รุกเข้าไปในรัสเซียอย่างฮึกเหิม ก็เริ่มหืดขึ้นคอหลังจากสัมพันธมิตรตะวันตกปฏิบัติการใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดปูพรมโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตอาวุธอยู่ตลอดเวลา มีรายงานขาดอะไหล่ ขาดกระสุน ขาดน้ำมัน จากทหารในแนวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงคำสั่งให้ประหยัดกระสุน ปืนใหญ่
...
ขณะที่กองทัพแดงสหภาพโซเวียต ก็ล้นหลามมากขึ้นไปทุกขณะ อุตสาหกรรมหลังบ้านไม่บอบช้ำ เนื่องจากตั้งอยู่เกินพิสัยทำการของเครื่องบินทิ้งระเบิดเยอรมนี และทำให้หลังการตีโต้ครั้งใหญ่ที่คูร์สก์ในปี 2486 กองทัพเยอรมนีก็ไม่สามารถเป็นฝ่ายบุกได้อีกเลยจนจบสงครามในอีก 2 ปีต่อมา...เมื่อกลางปีที่ผ่านมา กองทัพยูเครนเพิ่งสูญเสียหนักไปในการตีโต้ฤดูร้อน ห่วงว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือไม่ โปรดติดตาม.
ตุ๊ ปากเกร็ด
คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้าต่างโลก” เพิ่มเติม