สหประชาชาติเปิดเผยว่า ผู้สังเกตการณ์ของสหประชาชาติ 3 คน และล่าม 1 คน ได้รับบาดเจ็บจากการโจมตีในเมืองรามีช ทางตอนใต้ของเลบานอน 

สำนักข่าวของรัฐบาลเลบานอน รายงานว่า การโจมตีด้วยโดรนของอิสราเอลอยู่เบื้องหลังเหตุระเบิด แต่กองทัพอิสราเอลปฏิเสธว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ด้านยูนิฟิล หรือปฏิบัติการสังเกตการณ์ทางเทคนิคของสหประชาชาติ ระบุว่า ผู้ได้รับบาดเจ็บได้รับการรักษาแล้ว และกำลังสืบสวนที่มาของเหตุโจมตี ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากความตึงเครียดที่รุนแรงขึ้นตามแนวชายแดนอิสราเอล-เลบานอน

ยูนิฟิล ระบุในแถลงการณ์ว่า การโจมตีเกิดขึ้นใกล้กับกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่เคยลาดตระเวนตามแนวเส้นเขตแดนสีน้ำเงินที่กำหนดโดยสหประชาชาติ ซึ่งแบ่งเลบานอนตอนใต้ออกจากอิสราเอล และกล่าวว่าการกำหนดเป้าหมายที่เป็นเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้

อันเดรีย เทเนนตี โฆษกของยูนิฟิล กล่าวว่า สถานที่ที่อยู่ลึกเข้าไปในดินแดนเลบานอนถูกกำหนดให้เป็นเป้าหมายการโจมตีมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดความขัดแย้งในวงกว้างขึ้น อย่างไรก็ตามไม่มีการระบุรายละเอียดเกี่ยวกับสัญชาติของผู้สังเกตการณ์ หรืออาการบาดเจ็บ และมีรายงานว่าล่ามชาวเลบานอนมีอาการคงที่

สำนักข่าวแห่งชาติของรัฐเลบานอน ระบุว่า โดรนของอิสราเอลได้บุกโจมตีพื้นที่ทางตอนใต้ของเลบานอน ซึ่งเป็นจุดที่ผู้สังเกตการณ์ยูเอ็นได้รับบาดเจ็บ แต่กองทัพอิสราเอลปฏิเสธเรื่องนี้ โดยระบุในแถลงการณ์ว่า กองกำลังป้องกันอิสราเอลไม่ได้โจมตียานพาหนะของยูนิฟิลในพื้นที่รามิช

ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาความตึงเครียดได้เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นอีกครั้งตามแนวชายแดนอย่างไม่เป็นทางการ ระหว่างอิสราเอลและเลบานอน โดยมีผู้เสียชีวิตทั้งสองฝ่าย โฆษกยูนิฟิล กล่าวว่า การยิงเป้าแบบกำหนดเป้าหมายกำลังเกิดขึ้นในจุดที่ค่อนข้างห่างไกลจากแนวเส้นเขตแดนสีน้ำเงินในเลบานอน

...

อิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ได้โจมตีตอบโต้ไปมาเกือบทุกวัน หลังการเริ่มต้นของสงครามอิสราเอล-กาซา ภายหลังการโจมตีของกลุ่มฮามาสในอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม โดยกลุ่มฮิซบอลเลาะห์เป็นกลุ่มติดอาวุธมุสลิมนิกายชีอะห์ในเลบานอน ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอิหร่าน และเป็นพันธมิตรของกลุ่มฮามาส

เมื่อวันศุกร์ ยูอาฟ กัลลันต์ รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล กล่าวว่า กองกำลังอิสราเอลจะเพิ่มการโจมตีฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน โดย เปลี่ยนจากการขับไล่เป็นการไล่ล่าอย่างจริงจัง

ขณะเดียวกัน อิสราเอลตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากสหรัฐฯ หลังจากสหรัฐฯ กล่าวว่าไม่สามารถให้การสนับสนุนการโจมตีภาคพื้นดินขนาดใหญ่ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเมืองราฟาห์ บริเวณชายแดนกาซาติดกับอียิปต์ ซึ่งมีผู้พลัดถิ่นมากกว่าหนึ่งล้านคน

รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการเสียชีวิตของพลเรือนในฉนวนกาซาที่เพิ่มขึ้น และการเข้าถึงของความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ขณะที่องค์การสหประชาชาติกล่าวว่าใกล้เกิดภาวะอดอยากในฉนวนกาซา.

ที่มา BBC

ติดตามข่าวต่างประเทศเพิ่มเติมที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign