รายงานของสหประชาชาติเผย ทั่วโลกทิ้งขว้างอาหารปีละกว่า 1 พันล้านตัน ในขณะที่คนเกือบ 800 ล้านคนกำลังเผชิญความหิวโหย

เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2567 โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เผยแพร่ดัชนีอาหารสูญเปล่า (Food Waste Index) ประจำปี 2567 พบว่า ในปี 2565 โลกมีอาหารเหลือทิ้งอย่างสูญเปล่าถึง 1.05 พันล้านตัน หมายความว่า อาหาร 1 ใน 5 ของโลก ถูกใช้อย่างสุรุ่ยสุร่ายในครัวเรือน, ร้านอาหาร และภาคส่วนอื่นๆ ของบริการด้านอาหารและการค้าปลีก

จำนวนดังกล่าวไม่รวมอาหารอีก 13% ของโลกที่ต้องสูญเสียไปตลอดการเดินทางจากฟาร์มไปจนถึงโต๊ะอาหาร ทำให้โดยรวมแล้วมีอาหารกว่า 1 ใน 3 ของโลก ที่ต้องสูญเสียไประหว่างกระบวนการผลิต

ข้อมูลล่าสุดจาก UNEP สวนทางอย่างสิ้นเชิงกับรายงานภาวะความไม่มั่งคงทางอาหารฉบับล่าสุด ที่บอกว่า ราว 1 ใน 3 ของประชากรโลก กำลังเผชิญภาวะความไม่มั่นคงทางอาหาร หรือไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างพอเพียง โดยที่ 793 ล้านคนกำลังได้รับผลกระทบจากความหิวโหย

ทั้งนี้ รายงานของ UNEP จำแนกสถิติเป็น 2 ประเภทคือ อาหารที่สูญเสียไป (food loss) หรืออาหารที่ถูกทิ้งไปในช่วงเริ่มต้นของห่วงโซ่อุปทาน เช่น ผักที่เน่าเสียในฟาร์ม และเนื้อที่เน่าเสียตอนละลายการแช่แข็ง กับอาหารที่สูญเปล่า (food waste) หรือ อาหารที่ถูกทิ้งโดยครัวเรือน, ร้านอาหาร และร้านค้าอื่นๆ

ในปี 2565 มีอาหารถูกทิ้งอย่างสูญเปล่าจากครัวเรือนมากถึง 631 ล้านตัน หรือคิดเป็น 60% ของปริมาณทั้งหมด และเพิ่มขึ้นจากสถิติในปี 2564 เกือบเท่าตัว ขณะที่อาหารสูญเปล่าจากภาคบริการอาหารกับการค้าปลีก คิดเป็น 28% กับ 12% ตามลำดับ

โดยเฉลี่ยแล้วมนุษย์ 1 คนจะทิ้งอาหารอย่างสูญเปล่าปีละ 79 กก. หมายความว่าในแต่ละวันทั่วโลกจะมีอาหารที่ยังทานได้อย่างน้อย 1 พันล้านมื้อ ถูกทิ้งจากครัวเรือน

...

รายงานของ UNEP ยังตำหนิประเทศต่างๆ ที่จัดการปัญหานี้ได้ไม่ดีพอ โดยมีเพียง 21 ประเทศเท่านั้นที่รวมข้อมูลอาหารที่เสียไปกับอาหารที่สูญเปล่า เข้าไปในแผนสภาพอากาศของพวกเขาด้วย ทั้งที่ขยะจากอาหารเป็นตัวสร้างก๊าซเรือนกระจก 8% ถึง 10% ของทั้งหมด มากกว่าภาคการบินเกือบ 5 เท่า

ปัญหาอาหารสูญเปล่าไม่เพียงทำให้ภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้นเท่านั้น แต่ยังถูกโลกร้อนย้อนกลับมาเล่นงานด้วย เพราะรายงานของ UNEP ระบุว่า ประเทศที่อากาศร้อนมีอาหารสูญเปล่ามากกว่าประเทศที่มีอากาศเย็น เนื่องจากอุณหภูมิที่มากกว่าทำให้การเก็บรักษา และขนส่งอาหารก่อนที่มันจะเสียทำได้ยากขึ้น

ปัญหาอาหารสูญเปล่ายังไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะในโลกของคนรวยเท่านั้น เพราะปริมาณอาหารเหลือทิ้งในประเทศรายได้มากกับรายได้ปานกลาง โดยเฉลี่ยแล้วต่างกันเพียง 7 กก.ต่อคนต่อปีเท่านั้น.

ติดตามข่าวต่างประเทศ : https://www.thairath.co.th/news/foreign

ที่มา : cnn