นักโบราณคดีสุดอึ้ง พบไมโครพลาสติก 16 ชนิด ปนเปื้อนลงไปถึงซากโบราณคดีที่ถูกเก็บรักษาในแหล่งต้นกำเนิด ซึ่งเป็นชั้นดินโบราณความลึกกว่า 7 เมตร ทำให้นักโบราณคดีอาจต้องเปลี่ยนวิธีการเก็บอนุรักษ์ซากโบราณคดี

เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2567 เว็บไซต์ข่าว BBC รายงานว่า ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยยอร์กในอังกฤษ เปิดเผยผลการศึกษาชิ้นใหม่ที่ระบุว่า ไมโครพลาสติกสามารถปนเปื้อนลงไปในตัวอย่างดินประวัติศาสตร์ ซึ่งมีซากโบราณคดีฝังอยู่ ซึ่งการค้นพบนี้อาจทำให้นักวิจัยต้องเปลี่ยนวิธีการอนุรักษ์ซากทางโบราณคดีใหม่เพื่อไม่ให้ปนเปื้อนไมโครพลาสติก

นักวิจัยระบุว่า พบไมโครพลาสติกในชั้นดินลึกกว่า 7 เมตร ซึ่งเป็นชั้นดินโบราณสมัยศตวรรษที่ 1 หรือ 2 ก่อนคริสตกาล และขุดขึ้นมาในช่วงทศวรรษปี 1980 โดยรวมแล้วเป็นไมโครพลาสติกโพลีเมอร์ 16 ชนิดที่แตกต่างกัน ในตัวอย่างดินร่วมสมัย และตัวอย่างดินโบราณ

นายจอห์น สโชฟิลด์ ศาสตราจารย์และผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาในภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยยอร์ก กล่าวว่า การอนุรักษ์ซากทางโบราณคดีในแหล่งกำเนิดถือเป็นแนวทางที่นักวิจัยนิยมกันในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่การค้นพบครั้งใหม่นี้อาจกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวทางใหม่ เนื่องจากการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกอาจทำให้คุณค่าทางวิทยาศาสตร์ของซากโบราณคดีลดลง

ทั้งนี้ ไมโครพลาสติกเป็นพลาสติกชิ้นเล็กๆ ที่มีขนาดไม่เกิน 5 มิลลิเมตร หรือ 0.2 นิ้ว ซึ่งมีขนาดเท่าเมล็ดงาเมล็ดเดียว และเกิดขึ้นเมื่อพลาสติกขนาดใหญ่ย่อยสลายลง ไม่ว่าจะโดยการย่อยสลายทางเคมี หรือการสึกหรอทางกายภาพจนกลายเป็นชิ้นเล็กๆ และที่ผ่านมามีการถกเถียงเกี่ยวกับการแพร่กระจายของไมโครพลาสติกในสภาพแวดล้อมรอบตัวมนุษย์พุ่งสูงขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของไมโครพลาสติกต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์มากขึ้น แต่การศึกษาล่าสุดนี้ยังชี้ให้เห็นว่าไมโครพลาสติกยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสาขาโบราณคดีทั้งหมดได้.

...