นิวรัลลิงก์ บริษัทด้านเทคโนโลยีประสาทของนายอีลอน มัสก์ ได้เผยภาพผู้ป่วยรายแรกที่ได้รับการปลูกถ่ายชิปในสมอง ที่สามารถเล่นหมากรุกออนไลน์ได้โดยใช้เพียงความคิด
นิวรัลลิงก์ บริษัทด้านเทคโนโลยีประสาทของนายอีลอน มัสก์ ได้เผยภาพผู้ป่วยรายแรกที่ได้รับการปลูกถ่ายชิปในสมอง ที่สามารถเล่นหมากรุกออนไลน์ได้โดยใช้เพียงความคิดในเลื่อนเคอร์เซอร์บนคอมพิวเตอร์
ในการสตรีมสดความยาว 9 นาที บน X นายโนแลนด์ อาร์บอห์ วัย 29 ปี ซึ่งเป็นอัมพาตตั้งแต่ช่วงไหล่ลงไป หลังจากประสบอุบัติเหตุขณะดำน้ำ และได้รับการปลูกถ่ายชิปในสมองเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา สามารถใช้เคอร์เซอร์เพื่อเล่นหมากรุกออนไลน์
นายอาร์บอห์ กล่าวระหว่างการสตรีมสดว่า "การผ่าตัดนั้นง่ายมาก" และยังกล่าวอีกว่า เขาได้ใช้สมองเทียมในการเล่นวิดีโอเกม Civilization VI นิวรัลลิงก์ทำให้เขาสามารถทำแบบนั้นได้อีกครั้ง และสามารถเล่นติดต่อกันถึง 8 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามเขากล่าวว่า เทคโนโลยีใหม่นี้ยังไม่สมบูรณ์แบบ และ "ประสบปัญหาบางอย่าง"
อุปกรณ์ของนิวรัลลิงก์ ซึ่งมีขนาดประมาณเหรียญ 1 ปอนด์ ถูกปลูกถ่ายในกะโหลกศีรษะ โดยมีสายกล้องจุลทรรศน์ซึ่งสามารถอ่านการทำงานของเซลล์ประสาท และส่งสัญญาณไร้สายกลับไปยังหน่วยรับสัญญาณได้ บริษัทยังทำการทดลองกับหมู และอ้างว่าลิงสามารถเล่นวิดีโอเกม Pong เวอร์ชันพื้นฐานได้ โดยนิวรัลลิงก์ได้รับอนุญาตให้ทดสอบชิปกับมนุษย์ จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (เอฟดีเอ) ของสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคม 2566
นิวรัลลิงก์ เป็นหนึ่งในบริษัท และหน่วยงานของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ที่พยายามพัฒนาและนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้เชิงพาณิชย์ โดยเป้าหมายของบริษัทคือการเชื่อมต่อสมองของมนุษย์เข้ากับคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยจัดการกับสภาวะทางระบบประสาทที่ซับซ้อน
...
ตัวอย่างของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้ยังรวมถึงการที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิส โลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประสบความสำเร็จในการทำให้ นายเกิร์ต-ยาน ออสคัม ผู้ประสบอุบัติเหตุขณะขี่จักรยาน จนกลายเป็นผู้ป่วยอัมพาตบริเวณขา สามารถเดินได้โดยใช้ความคิดถึงการเคลื่อนไหวเท่านั้น ซึ่งทำได้โดยการใส่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ฝังลงบนสมองและกระดูกสันหลังของนายออสคัม ซึ่งสื่อสารความคิดแบบไร้สายไปยังขาและเท้าของเขา
ทั้งนี้ สมองของมนุษย์เป็นที่ตั้งของเซลล์ประสาทประมาณ 86 พันล้านเซลล์ ซึ่งเป็นเซลล์ประสาทที่เชื่อมต่อถึงกันด้วยไซแนปส์ ทุกครั้งที่เราต้องการเคลื่อนไหว รู้สึก หรือคิด แรงกระตุ้นไฟฟ้าเล็กๆ จะถูกสร้างขึ้นและส่งจากเซลล์ประสาทหนึ่งไปยังอีกเซลล์ประสาทหนึ่งอย่างรวดเร็ว
นักวิทยาศาสตร์ได้พัฒนาอุปกรณ์ที่สามารถตรวจจับสัญญาณเหล่านั้นได้ โดยใช้อุปกรณ์คล้ายหมวกบนศีรษะ หรือสายไฟที่ฝังเข้าไปในสมอง เทคโนโลยีนี้เรียกว่า อินเทอร์เฟซคอมพิวเตอร์สมอง (BCI) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีการทุ่มเงินทุนเพื่อการวิจัยหลายล้านดอลลาร์ในขณะนี้.
ที่มา BBC
ติดตามข่าวต่างประเทศเพิ่มเติมที่ https://www.thairath.co.th/news/foreign