ปัจจุบันมีหลักฐานจำนวนมากปรากฏให้เห็น ถึงความเชื่อมโยง “มลพิษที่มาจากยานยนต์” กับความน่ากังวลด้านสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เช่น โรคหอบหืด หลอดลมอักเสบเรื้อรัง มะเร็งปอด และหัวใจวาย ซึ่งเราต่างรู้ว่าการจัดการปัญหามลพิษเป็นงานที่ต้องใช้เวลาและใช้ความใส่ใจอดทน

หนึ่งในปัญหาที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนนั่นก็คือ แก้ปัญหา “ระดับมลพิษที่สูงขึ้นใกล้ถนนหนทาง” อย่างในสหรัฐอเมริกา มีข้อมูลจากบทความของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอร์เจีย สเตต ในนครแอตแลนตา สหรัฐฯ ระบุว่า ประชากร 45 ล้านคนในสหรัฐฯ มีถิ่นพำนักอาศัย มีสถานที่ทำงาน หรือต้องเข้าเรียนในโรงเรียนที่อยู่ห่างจากทางหลวงสายหลักภายในระยะราวๆ 90 เมตร

เมื่อเร็วๆนี้การศึกษาใหม่ของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอร์เจีย สเตต ที่รายงานลงวารสารพลอส วัน เผยพบว่า “ต้นไม้และพุ่มไม้ที่ปลูกไว้ ใกล้ทางหลวง” สามารถลดมลพิษทางอากาศที่เกิดจากยานยนต์ได้อย่างมาก

นักวิจัยเผยว่าได้สุ่มตัวอย่างคุณภาพอากาศในพื้นที่ 5 แห่ง ตลอดระยะเวลา 3 เดือน ตรงบริเวณสถานีรถไฟใต้ดินระหว่างรัฐและถนนทางหลวงในนครแอตแลนตา เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ที่คล้ายกันที่ไม่มีต้นไม้ปลูกอยู่ นักวิจัยพบว่าเขม่าที่มาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงยานยนต์ลดลง 37% และอนุภาคขนาดเล็กมากก็ลดลง 7% ในพื้นที่ที่มีพืชพรรณหรือต้นไม้ปลูกประดับประดา อย่างไรก็ตาม รองศาสตราจารย์ โรบี กรีนวาลด์ จากวิทยาลัยการสาธารณสุข ของมหาวิทยาลัยจอร์เจีย สเตต ระบุว่า “ต้นไม้และพุ่มไม้ใกล้ถนนไม่สามารถแก้ปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดจากยานยนต์ได้ แต่สามารถช่วยลดความรุนแรงของปัญหาได้”

และเพื่อให้บรรลุการลดอันตรายต่อสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับทางหลวงอย่างครอบคลุมมากขึ้น หน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการจัดการปัญหาดังกล่าว สามารถปรับปรุงคุณภาพอากาศด้วยการทำให้ผู้คนมีวิธีเดินทางไปยังจุดหมายได้อย่างปลอดภัย สะดวกสบาย และความสะดวกสบายเหล่านี้ไม่ต้อง ใช้ยานยนต์เป็นตัวช่วย ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงอาจรวมถึงการขยายการขนส่งสาธารณะ การพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของจักรยาน รวมถึง ทางเดินเท้า เป็นต้น

...

กรีนวาลด์ยังเผยว่า “คนเราควรปลูกต้นไม้ ริมถนนให้มากขึ้นเพราะให้ประโยชน์มากกว่าความสวยงาม แต่ก็ไม่อยากให้ใครรู้สึกว่าการแก้ไขปัญหาทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยมลพิษ ของยานยนต์ทำได้ง่ายๆด้วยการปลูกต้นไม้”.

ภัค เศารยะ

คลิกอ่านคอลัมน์ "หน้าต่างโลก" เพิ่มเติม